ฎีกา InTrend Ep.166 ขอให้ชดใช้เงินตามเช็คในคดีอาญาตาม ม.44/1 ได้หรือไม่

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 21 ก.ย. 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.166 ขอให้ชดใช้เงินตามเช็คในคดีอาญาตาม ม.44/1 ได้หรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, ทัสสญุชุ์ กุลสิทธิ์ชัยญา, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    การฟ้องคดีเช็คเป็นคดีอาญาเป็นเรื่องหนึ่งที่เรามักพบกันบ่อย ๆ แม้ในขณะนี้มีความพยามที่จะยกเลิกความผิดตามกฎหมายเรื่องนี้ แต่เมื่อกฎหมายยังไม่ยกเลิกก็อาจจำเป็นต้องทำความเข้าใจปัญหาบางอย่างที่อาจเกิดขึ้น โดยปัญหาที่เราจะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นปัญหาที่ว่าผู้เสียหายในคดีเช็คจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้เงินตามเช็คตาม ปวิอ. ม.44/1 ได้หรือไม่
    นายแดงออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่นายดำเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนด นายดำได้นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน นายดำจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และต่อมาพนักงานอัยการฟ้องนายแดงต่อศาล
    นายดำได้ยื่นคำร้องขอให้นายแดงชดใช้เงินตามเช็คจำนวน 500,000 บาท เข้ามาในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1
    ในระหว่างที่คดีดำเนินอยู่ นายดำกับนายแดงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ตามข้อสัญญากำหนดให้นายแดงชำระหนี้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญา หากนายแดงชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว นายดำตกลงจะถอนฟ้องคดีให้แก่นายแดง แต่เมื่อครบกำหนดแล้วนายแดงไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่นายดำตามข้อตกลง
    ปัญหาประการแรกในคดีนี้คงอยู่ที่เรื่องการยื่นคำร้องของนายดำที่จะให้นายแดงชดใช้เงินตามเช็คจำนวน 500,000 บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1
    ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ถ้าถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้อง ต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
    ประเด็นจึงคงอยู่ที่ว่าค่าสินไหมทดแทนตามที่นายดำอ้างมานี้เป็นความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาของนายแดงหรือไม่ ซึ่งกรณีที่จะใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้จะต้องเป็นกรณีที่คดีที่มีการกระทำความผิดอาญานั้นก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งติดตามมาด้วย หากไม่มีการกระทำความผิดอาญาแล้ว สิทธิเรียกร้องทางแพ่งดังกล่าวย่อมไม่เกิดขึ้น
    สำหรับกรณีนี้ เมื่อเราสืบสาวข้อเท็จจริงในกรณีทำนองนี้จะเห็นว่าหนี้ที่นายดำมีอยู่ในเงินจำนวน 5 แสนบาทนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว และเมื่อมีการออกเช็ค ตัวเช็คนั้นเองก็ก่อให้เกิดมูลหนี้ในฐานะที่เป็นตั๋วเงินรูปแบบหนึ่งที่ผูกพันให้ผู้ออกเช็คมีหน้าที่ต้องชำระเงินตามเช็ค สิทธิเรียกร้องที่นายดำมีอยู่ต่อนายแดงจึงเกิดขึ้นมาก่อนที่ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว สิทธิเรียกร้องเงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่นายดำจะยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ตาม ม.44/1 ได้
    ปัญหาอีกประการที่มีอยู่ในคดีนี้คือการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างนายดำกับนายแดงว่าจะทำให้คดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.39 (2) หรือไม่
    แม้สัญญาจะเรียกว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เมื่อดูข้อตกลงระหว่างกันแล้วจะเห็นได้ว่านายดำยังไม่มีเจตนาที่จะสละสิทธิไม่ติดใจเอาความในคดีส่วนอาญาภายหลังจากทำสัญญาฉบับดังกล่าวแล้ว สิ่งที่นายดำทำเป็นเพียงการผ่อนผันเวลาให้แก่นายแดงเท่านั้น เพราะนายดำจะไปถอนฟ้องให้ต่อเมื่อมีการชำระหนี้ครบถ้วนก่อนเท่านั้น การทำสัญญานี้จึงไม่ทำให้คดีอาญาเลิกกัน
    ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้เสียหายในคดีเช็คไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ปวิอ. ม.44/1 เรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินตามเช็คได้ เพราะสิทธิเรียกร้องตามเช็คเกิดขึ้นก่อนมีการกระทำความผิดอาญาเสียอีก และหากทำสัญญากันแม้จะเรียกว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ถ้าเป็นเพียงการผ่อนผันเวลาชำระหนี้แก่กันเท่านั้นก็ไม่ทำให้คดีอาญาเลิกกัน
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2565)

ความคิดเห็น •