ฎีกา InTrend Ep.179 ออกเช็คโดยให้เจ้าหนี้กรอกวันที่ภายหลัง ผู้ออกเช็คจะมีความผิดอาญาหรือไม่

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 21 ก.ย. 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.179 ออกเช็คโดยให้เจ้าหนี้กรอกวันที่ภายหลัง ผู้ออกเช็คจะมีความผิดอาญาหรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, ทัสสญุชุ์ กุลสิทธิ์ชัยญา, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    ตอนนี้มีร่างกฎหมายที่จะยกเลิกความผิดอาญาที่เกิดจากการออกเช็คโดยไม่มีเจตนาจะใช้เงินตามเช็คที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของทางสภาฯ แต่ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ออกก็ยังมีคดีความผิดที่คั่งค้างอยู่ตามกฎหมายปัจจุบันที่เราอาจจะต้องดูกันไปก่อน ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่ลูกหนี้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้แต่ไม่ได้ลงวันที่ในเช็คไว้แล้วเจ้าหนี้ลงวันที่ในเช็คภายหลัง หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ลูกหนี้จะมีความผิดอาญาหรือไม่
    สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นสมมติว่านาย ก. กู้เงินจากนาย ข. จำนวน 1 ล้านบาท ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระนาย ก. ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้คืนได้ นาย ก. จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้และได้ออกเช็คจำนวน 3 ฉบับให้ไว้แก่นาย ข.
    ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 นาย ข. ได้นำเช็คทั้งสามฉบับซึ่งมีการประทับตราวันที่ในเช็คไว้ว่าเป็นวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ไปเข้าบัญชี ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจะจ่ายเงินตามเช็ค
    นาย ข. จึงได้ฟ้องนาย ก. เป็นคดีอาญาในข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
    นาย ก. ได้ให้การปฏิเสธ อ้างว่าตนออกเช็คทั้งสามฉบับจริง แต่ตอนที่มอบเช็คให้แก่นาย ข. ตนเองไม่ได้ลงวันที่ในเช็คไว้
    ในกรณีทำนองนี้อย่างที่ทราบกันว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ได้กำหนดกรณีที่จะเป็นความผิดอาญาหากผู้ออกเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายได้ออกเช็คโดย (1) เจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค (2) ขณะออกเช็คไม่มีเงินในบัญชีที่จะพึงใช้เงินได้ (3) ให้ใช้เงินสูงกว่าเงินในบัญชีในขณะออกเช็ค (4) ถอนเงินออกจนเงินเหลือไม่พอ (5) ห้ามธนาคารไม่ให้ใช้เงินตามเช็คโดยทุจริต
    การกระทำของผู้ออกเช็คที่จะทำให้เป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่จึงผูกพันกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือเป็นอยู่ “ในขณะออกเช็ค” ซึ่งในที่นี้ย่อมหมายถึงวันที่ลงในเช็คว่าผู้ออกเช็คได้กระทำการที่มีลักษณะตามองค์ประกอบความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เช่นในวันดังกล่าวมีเงินในบัญชีเพียงพอหรือไม่
    ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีนี้แม้จะปรากฏว่านาย ก. ได้ลงลายมือชื่อในเช็คและมอบเช็คทั้งสามฉบับให้แก่นาย ข. ไว้จริง แต่ก็มีข้อเท็จจริงหลายประการที่ทำให้เห็นได้ว่านาย ก. จะไม่ได้ลงวันที่ในเช็คไว้ แต่วันที่ตามที่ปรากฏในเช็คเป็นวันที่ซึ่งนาย ข. ได้ไประบุภายหลัง เช่น ข้อความในเช็คเขียนด้วยลายมือนาย ก. เป็นส่วนใหญ่ มีแต่ช่องวันที่ที่ใช้ตราประทับลงไป ซึ่งหากนาย ก. ระบุวันที่ไว้แต่แรกก็น่าจะใช้ลายมือเขียนทั้งหมด
    ข้อความในหนังสือรับสภาพหนี้ที่ระบุเกี่ยวกับการออกเช็คและวันที่ออกเช็คก็เป็นข้อความที่เพิ่มภายหลัง หากมีการออกเช็คและระบุวันที่แต่แรกก็น่าจะเขียนไว้ตั้งแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว และเมื่อประกอบกับพฤติการณ์อื่น ๆ ทำให้เห็นได้ว่านาย ข. เป็นผู้ประทับตราวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ในภายหลังแล้วเอาเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารจนธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามที่เกิดขึ้น
    การกระทำความผิดตาม พรบ. เช็ค นี้เมื่อเป็นความผิดอาญาประเภทหนึ่ง เจตนาของผู้กระทำความผิดย่อมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ การที่ผู้ออกเช็คจะมีเจตนาต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีเพียงพอ ผู้ออกเช็คย่อมต้องรู้ด้วยว่าเช็คลงวันที่ออกไว้เมื่อใด เพราะวันที่ดังกล่าวจึงจะเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ออกเช็ครู้ได้ว่าตนมีเงินในบัญชีเพียงพอในวันดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากจากปกติของบัญชีกระแสรายวันย่อมมีเงินเข้าออกได้อยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น การที่เช็คไม่ได้ระบุวันที่ไว้ และนาย ข. มาประทับตราวันที่ภายหลังโดยไม่ปรากฏว่านาย ก. รู้ว่าวันดังกล่าวจะเป็นวันออกเช็ค ย่อมจะบอกว่านาย ก. เจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คในวันนั้นไม่ได้ นาย ก. จึงไม่มีความผิดอาญาในเรื่องนี้
    ดังนั้น หากลูกหนี้ออกเช็คโดยไม่ได้ระบุวันที่ออกเช็คไว้แล้วเจ้าหนี้ไปกรอกวันที่ลงในเช็คเองโดยลูกหนี้ไม่รู้เห็นด้วย แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อมีการนำเช็คเข้าบัญชี การกระทำของลูกหนี้นั้นย่อมไม่เป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2565)

ความคิดเห็น • 1

  • @asdfdswe
    @asdfdswe 2 หลายเดือนก่อน

    เคยดูช่องนี้แล้วบางฎีกามีการนำไปออกสอบผู้ช่วยด้วย