ฎีกา InTrend Ep.165 ข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นจะทำไว้ตั้งแต่ทำสัญญากู้เลยได้หรือไม่

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 9 เม.ย. 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.165 ข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นจะทำไว้ตั้งแต่ทำสัญญากู้เลยได้หรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, ทัสสญุชุ์ กุลสิทธิ์ชัยญา, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    การคิดดอกเบี้ยเป็นเรื่องปกติที่ลูกหนี้ต้องเสียให้แก่เจ้าหนี้ เพราะเมื่อไปหยิบยืมเงินมาจากคนอื่นก็ย่อมจะต้องให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของเงินเป็นธรรมดา นอกจากดอกเบี้ยจะเป็นค่าตอบแทนแล้วยังทดแทนความเสี่ยงของการให้กู้ยืมด้วย เพราะบางครั้งลูกหนี้ก็อาจเบี้ยวไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามกำหนด แต่การจะคิดดอกเบี้ยได้มากน้อยเพียงใดก็มีหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่กำหนดไว้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการคิดดอกเบี้ยทบต้น ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ทำข้อตกลงไว้แต่แรกว่าให้นำดอกเบี้ยที่ค้างเกินหนึ่งปีมาคิดทบต้นจะมีผลใช้บังคับได้หรือไม่ เพียงใด
    นาย ก. ได้กู้ยืมเงินจากนาย ข. เป็นเงิน 200,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และในสัญญากู้ข้อหนึ่งได้เขียนไว้ด้วยว่า หากนาย ก. ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่า 1 ปี นาย ก. ยินยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมารวมกับเงินต้นเดิมเป็นเงินต้นใหม่ แล้วให้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นใหม่ และจะคิดทบไปทุกปีจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา
    นาย ก. ผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้นาย ข. ฟ้องนาย ก. ต่อศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้ทั้งหมด โดยหนี้ที่นาย ข. นำมาฟ้องนั้น นาย ข. ได้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 1 ปี มารวมเป็นเงินต้นและขอคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่รวมกันนั้นด้วย
    นาย ก. ต่อสู้ว่าการคิดดอกเบี้ยของนาย ข. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยทบต้น การจะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ จะต้องมีการตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ภายหลังจากที่ผิดนัดและมีดอกเบี้ยค้างชำระเกินหนึ่งปีแล้ว ไม่ใช่การตกลงกำหนดไว้แต่ต้นในสัญญากู้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
    ในการคิดดอกเบี้ยทบต้นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 ได้กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่เมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีแล้ว คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากัน โดยข้อตกลงนี้ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
    หลักการตามมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องที่ห้ามการคิดดอกเบี้ยทบต้น เพราะจะทำให้เป็นภาระแก่ลูกหนี้มาก แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อดอกเบี้ยค้างชำระนานเข้าก็อาจไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหากมีการชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลาแล้ว เจ้าหนี้ย่อมนำดอกเบี้ยที่ได้รับชำระนั้นไปหาผลประโยชน์ทางอื่นซึ่งอาจเป็นการให้ลูกหนี้คนอื่นมากู้ยืมไปก็ได้ซึ่งจะทำให้เจ้าหนี้ได้ประโยชน์จากเงินที่ได้รับชำระนั้นด้วย แต่เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดย่อมทำให้เจ้าหนี้ขาดโอกาสที่จะนำดอกเบี้ยที่จะได้รับชำระไปทำประโยชน์ได้
    กฎหมายจึงเปิดช่องให้มีการตกลงกันได้ว่าหากดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 1 ปี แล้วอาจยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างนานกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้นมาทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ทบเข้าด้วยกันนั้นได้ แต่ข้อต่อสู้ของนาย ก. อยู่ตรงบทบัญญัติตรงนี้นี่เองว่าการตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นที่กฎหมายให้ทำได้นั้นจะต้องตกลงกันเมื่อใด โดยนาย ก. ต่อสู้ว่าการตกลงนี้จะต้องทำภายหลังจากที่ดอกเบี้ยค้างชำระกันเกินหนึ่งปีแล้วเจ้าหนี้ลูกหนี้จึงมาตกลงกันภายหลังให้คิดทบต้น ไม่สามารถตกลงกันตั้งแต่ต้นขณะทำสัญญากู้ยืมให้คิดทบต้นได้
    ตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่ได้กำหนดบังคับไว้โดยเฉพาะว่าต้องตกลงกันเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระเกินหนึ่งปีแล้ว ดังนั้น คู่สัญญาจึงอาจตกลงกันตั้งแต่ต้นได้ว่าให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าหนึ่งปีมาทบเข้ากับต้นเงิน ข้อตกลงระหว่างนาย ก. และนาย ข. ดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย และใช้บังคับได้
    อย่างไรก็ตาม สิทธิในการคิดดอกเบี้ยทบต้นของเจ้าหนี้ในลักษณะนี้มีเพียงเฉพาะในส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าหนึ่งปีก่อนวันฟ้องเท่านั้น แต่ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระภายหลังวันฟ้องไม่อาจขอให้นำมาคิดทบต้นได้อีก
    ดังนั้น ในสัญญากู้ยืม เจ้าหนี้และลูกหนี้อาจตกลงกันแต่ต้นให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าหนึ่งมาทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ทบเข้าด้วยกันนั้นได้ โดยอาจตกลงไว้แต่ต้นตั้งแต่ขณะทำสัญญากู้ได้ แต่สิทธิดังกล่าวมีอยู่เฉพาะดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าหนึ่งปีจนถึงวันฟ้องเท่านั้น จะขอให้คิดดอกเบี้ยทบต้นในส่วนหลังวันฟ้องไม่ได้
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3373/2565)

ความคิดเห็น • 2

  • @nakarinwong8917
    @nakarinwong8917 หลายเดือนก่อน

    เรียนสอบถามครับ
    กรณี ดอกเบี้ยผิดนัด สามารถคิดได้ที่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ไช่หรือไม่ครับ ..ขอบคุณครับ..

  • @MrYut4657
    @MrYut4657 หลายเดือนก่อน

    ดูจบแล้วเมื่อ 2024-04-11