ฎีกา InTrend Ep.167 ผู้บริโภคทำสัญญากับนิติบุคคลแล้วจะเรียกให้กรรมการรับผิดร่วมด้วยได้หรือไม่

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 23 เม.ย. 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.167 ผู้บริโภคทำสัญญากับนิติบุคคลแล้วจะเรียกให้กรรมการรับผิดร่วมด้วยได้หรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, ทัสสญุชุ์ กุลสิทธิ์ชัยญา, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    ผู้บริโภคทำสัญญากับนิติบุคคลแล้วจะเรียกให้กรรมการรับผิดร่วมด้วยได้หรือไม่
    ในกฎหมายอย่างเช่นพระราชวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ ได้กำหนดมาตราการไว้หลายอย่างเพื่อช่วยในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค มาตรการหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้คือในบางกรณีอาจเรียกร้องให้กรรมการหรือผู้ถือหุ้นรับผิดร่วมกับนิติบุคคลด้วยก็ได้ แต่การจะเรียกร้องดังกล่าวก็มีหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย สำหรับปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่ผู้บริโภคทำสัญญากับนิติบุคคลแล้วจะเรียกร้องให้กรรมการรับผิดร่วมด้วยได้หรือไม่
    นายเหลืองทำสัญญากับบริษัท ก. จำกัด ในโครงการเรียนภาษาอังกฤษและฝึกงานด้านการโรงแรมแบบได้รับค่าจ้าง ณ ประเทศอังกฤษ นายเหลืองได้จ่ายเงินให้บริษัท ก. ไป 230,000 บาท แต่ปรากฏว่าบริษัท ก. ไม่สามารถจัดให้นายเหลืองเดินทางไปได้ และขอผัดผ่อนหลายครั้ง จนในที่สุดนายเหลืองทนไม่ไหวจึงได้แจ้งยกเลิกสัญญา และขอให้บริษัท ก. ชดใช้เงินคืน แต่บริษัทไม่ยอมชำระ
    นายเหลืองจึงฟ้องให้บริษัท ก. และนายเขียว ซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นร้อยละ 90 ของบริษัท ก. ร่วมรับผิดด้วย โดยอ้างว่าบริษัท ก. ดำเนินการโดยไม่สุจริตหรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉล โดยอ้างว่า (1) ที่ตั้งของบริษัท ก. อยู่ที่บ้านของนายเขียว (2) นายเขียวถือหุ้นเกือบทั้งหมดของบริษัท ก. (3) การโอนเงินได้โอนเข้าบัญชีของบริษัทส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งโอนเข้าบัญชีผู้จัดการบริษัท เป็นการเลี่ยงภาษี (4) บริษัท ก. มีผลประกอบการขาดทุนและไม่ส่งงบการเงินประจำปี ไม่เคยจ่ายปันผลหรือประชุมประจำปี
    ในกรณีของบริษัท ก. คงไม่เป็นปัญหาเท่าใด เพราะเมื่อบริษัท ก. เป็นคู่สัญญากับนายเหลืองแล้วไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ บริษัท ก. ย่อมต้องมีความรับผิดชดใช้เงินคืนอยู่แล้ว
    ปัญหาในเรื่องนี้คงอยู่ที่ความรับผิดของนายเขียว ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กับเป็นกรรมการบริษัท เพราะตามปกติแล้วเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมถือว่าบริษัทนั้นมีความรับผิดที่แยกต่างหากจากตัวบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการ การจะเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการรับผิดได้จะต้องจำกัดเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นแล้วจะทำให้การก่อตั้งนิติบุคคลไม่มีความหมาย เนื่องจากสุดท้ายแล้วไม่มีการแบ่งแยกความรับผิดออกจากกันตามความมุ่งหมายของกฎหมาย
    ในเรื่องนี้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ในมาตรา 44 ว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านิติบุคคลดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค หรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาให้หุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลหรือผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลร่วมรับผิดชอบในหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคได้ด้วย
    หลักการดังกล่าวนี้เรียกว่าหลัก Piercing corporate veil หรือการเจาะม่านนิติบุคคล เป็นหลักที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้สำหรับกรณีที่มีการใช้สภาพความเป็นนิติบุคคลเพื่อฉ้อฉลและป้องกันกันความรับผิดส่วนตัว โดยที่ไม่มีเจตนาจะแยกทรัพย์สิน สิทธิและความรับผิดของส่วนตัวกับของนิติบุคคลออกจากกันอย่างแท้จริง แต่ปัญหาคงอยู่ที่ว่าในกรณีนี้นายเหลืองจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้หรือไม่ว่านายเขียวจัดตั้งหรือดำเนินการบริษัท ก. โดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค หรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคล
    เมื่อดูจากพฤติการณ์ที่นายเหลืองยกมาจะเห็นได้ว่า การที่ใช้บ้านของนายเขียวเป็นที่ตั้งบริษัทไม่ใช่การแสดงว่าการตั้งบริษัทนี้เป็นการไม่สุจริตหรือฉ้อฉล เช่นเดียวกับการที่นายเขียวถือหุ้นเกือบทั้งหมด เพราะการถือหุ้นย่อมขึ้นอยู่กับการลงเงินค่าหุ้นในบริษัท ส่วนการแบ่งโอนเงินเข้าบัญชีบริษัทส่วนหนึ่ง และเข้าบัญชีผู้จัดการอีกส่วนเพื่อผลทางภาษีนั้น แม้อาจจะไม่ถูกต้องในเรื่องการเสียภาษี แต่เป็นกรณีตามกฎหมายอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องไปว่ากล่าวกันในเรื่องนั้น เช่นเดียวกับการมีผลประกอบการขาดทุนและไม่ส่งงบการเงินก็ยังไม่ถือว่าการก่อตั้งนิติบุคคลนี้ทำขึ้นโดยไม่สุจริต
    การที่จะให้กรรมการหรือผู้ถือหุ้นรับผิดร่วมกับนิติบุคคลได้หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ในแต่ละเรื่อง ข้อเท็จจริงตามที่นายเหลืองอ้างมา หากปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงอื่น เช่น การที่นายเขียวเอาเงินหรือทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ส่วนตัวเสมือนว่าเป็นของตนเอง จึงทำให้ไม่เพียงพอที่จะให้นายเหลืองรับผิดก็อาจประกอบกันให้เห็นว่าการดำเนินงานของนิติบุคคลเป็นไปโดยไม่สุจริตและฉ้อฉลก็เป็นได้
    ดังนั้น การที่ปรากฏเพียงว่าใช้บ้านของผู้ถือหุ้นเป็นที่ทำการบริษัท มีผลประกอบการขาดทุน ไม่ส่งงบการเงิน และให้โอนเงินบางส่วนเข้าบัญชีผู้จัดการไม่เพียงพอที่จะให้หุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลรับผิด เพราะเหตุยังไม่ถือว่าเป็นกรณีที่จัดตั้งหรือดำเนินการบริษัทโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวง
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3629/2565)
    ______________________

ความคิดเห็น • 1