ฎีกา InTrend Ep.114 เบิกความในอีกคดีว่าเป็นหนี้ จะถือเป็นการรับสภาพความรับผิดได้หรือไม่

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 14 ต.ค. 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.114 เบิกความในอีกคดีว่าเป็นหนี้ จะถือเป็นการรับสภาพความรับผิดได้หรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : วิญญู พิชัย, สรวิศ ลิมปรังษี, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    การใช้สิทธิเรียกร้องในหนี้ที่มีต่อกันตามปกติแล้วย่อมต้องใช้สิทธิตามระยะเวลาภายในอายุความที่กฎหมายกำหนดด้วย ไม่เช่นนั้นอาจไม่สามารถเรียกร้องได้ หากผู้ที่ถูกเรียกร้องยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความขึ้นอ้าง แต่ในบางกรณีอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ระยะเวลาที่เป็นอายุความสะดุดหยุดลงหรือทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องอีกได้แม้จะขาดอายุความแล้ว ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่กรรมการบริษัทลูกหนี้ไปเบิกความในอีกคดีว่าเป็นหนี้ จะถือเป็นการรับสภาพความรับผิดได้หรือไม่
    นายธันวาเป็นทนายความที่ตามปกติรับจ้างว่าความให้แก่ลูกความเป็นการทั่วไป แต่นอกจากนั้นนายธันวายังรับเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายให้แก่บริษัทต่าง ๆ ด้วย โดยการรับเป็นที่ปรึกษานี้จะคิดค่าตอบแทนเป็นรายเดือน นายธันวาได้รับเป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทเงินดี จำกัด โดยตกลงจ่ายค่าจ้างกันเดือนละ 10,000 บาท
    เดิมบริษัทได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่นายธันวาเรื่อยมา แต่ต่อมาบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จึงไม่ได้จ่ายเงินให้ครบทุกเดือนนับแต่ปี 2552 ถึง 256 นายธันวาพยายามทวงถามแล้ว แต่บริษัทบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด
    เมื่อเดือนกันยายน 2557 นายธันวาจึงได้ฟ้องเรียกค่าจ้างที่ค้างชำระ โดยแบ่งยอดหนี้ที่ค้างเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นหนี้ช่วงปี 2552 ถึง 2554 รวม 60,000 บาท และกลุ่มที่ 2 เป็นหนี้เดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 2555 อีกรวม 50,000 บาท
    แต่ก่อนหน้าที่จะเป็นคดีดังกล่าวนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2557 นายธันวาได้เคยเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเงินดี จำกัด เป็นจำเลยแล้วในอีกคดีหนึ่ง ในการสืบพยานคดีดังกล่าว นายพุธ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทเงินดี จำกัด ได้ไปเบิกความเป็นพยาน และได้ตอบคำถามของนายธันวาตอนหนึ่งว่าไม่ได้จ่ายค่าที่ปรึกษาระหว่างปี 2552 - 2555 ตามรายการที่ปรากฏในเอกสารในคดีดังกล่าว เนื่องจากบริษัทมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
    สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในคดีนี้เป็นกรณีที่ทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้แก่จำเลย สิทธิเรียกร้องในกรณีนี้จึงมีอายุความ 2 ปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะนายธันวา ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2557 แต่ค่าที่ปรึกษากฎหมายที่ค้างชำระอยู่งวดสุดท้ายเป็นของเดือนสิงหาคม 2555 จึงเกินอายุความที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นเหตุให้บริษัทเงินดี จำกัด ยกขึ้นต่อสู้ว่าหนี้ที่ฟ้องขาดอายุความแล้ว ตนจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวอีกต่อไป
    สำหรับหนี้กลุ่มที่ 1 เป็นหนี้ช่วงปี 2552 ถึง 2554 เกินกำหนดอายุความสองปีไปแน่นอน แต่การที่นายพุธ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทเงินดี จำกัด ไปเบิกความในอีกคดีนี้รับว่าเป็นหนี้ค่าที่ปรึกษากฎหมายที่ต้องจ่ายให้แก่นายธันวาจริง โดยรวมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2552 - 2554 ซึ่งเป็นหนี้กลุ่มนี้ด้วย แม้ขณะที่นายพุธ ไปเบิกความจะเป็นเวลาเกิน 2 ปี นับแต่เกิดหนี้กลุ่มที่ 1 นี้ก็ตามแต่ถือว่าเป็นการ “รับสภาพความรับผิด” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/28 เมื่อนับตั้งแต่วันที่นายพุธไปเบิกความถึงวันฟ้องแล้วไม่เกิน 2 ปี นายธันวา จึงมีสิทธิเรียกร้องหนี้ส่วนนี้ได้
    ไม่จำเป็นที่การรับสภาพความรับผิดนี้จะต้องเป็นการแสดงเจตนาต่อเจ้าหนี้โดยตรง และการไปเบิกความดังกล่าวก็มีการบันทึกถ้อยคำและให้นายพุธซึ่งเป็นกรรมการบริษัทเงินดี จำกัด ลงลายมือชื่อไว้แล้ว จึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือของการรับสภาพความรับผิดแล้ว
    ในส่วนหนี้กลุ่มที่ 2 เป็นหนี้ช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนกันยายน 2555 การที่นายพุธไปเบิกความในคดีดังกล่าวจึงถือเป็นการที่ลูกหนี้กระทำการใด ๆ อันปราศจากความสงสัยแสดงให้เห็นโดยปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ซึ่งในขณะนั้นยังไม่พ้นกำหนดอายุความสองปี จึงทำให้อายุความของหนี้กลุ่มนี้สะดุดหยุดลง เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่ถึงสองปี หนี้ส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ
    กรณีดังกล่าวนี้จึงพอสรุปได้ว่าการไปเบิกความเป็นพยานรับว่าเป็นหนี้นั้นอาจถือเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยถือว่าบันทึกคำเบิกความและการลงลายมือชื่อของพยานเป็นหลักฐานเป็นหนังสือของการรับสภาพความรับผิดได้ และในขณะเดียวกันก็อาจเป็นการรับสภาพหนี้ที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ด้วย
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3814/2563)

ความคิดเห็น • 2