ฎีกา InTrend Ep.101 ทายาทอื่นจะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองเพื่อตนได้ในอายุความเท่าใด

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 4 ม.ค. 2023
  • ฎีกา InTrend Ep.101 ทายาทอื่นจะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองเพื่อตนได้ในอายุความเท่าใด
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : วิญญู พิชัย, สรวิศ ลิมปรังษี, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, กนกกูล วสยางกูร, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    ในการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกตามปกติย่อมต้องทำภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด แต่ในกรณีที่ทายาทบางคนครอบครองทรัพย์มรดกอยู่ การที่ทายาทอื่นจะฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงอาจมีกรณีที่ต้องพิจารณาโดยเฉพาะ ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่ทายาทอื่นฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกอยู่โดยเป็นการยึดถือไว้เพื่อตนโดยเฉพาะจะต้องทำภายในอายุความเท่าใด
    นาง ก. กับนาย ข. เป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 2 คนคือนายจันทร์ และนายอังคาร ทั้งสองคนมีทรัพย์สินเป็นที่ดินจำนวนหลายแปลง โดยระหว่างสมรส นาง ก. ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ขณะซื้อที่ดินแปลงนี้มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์
    ต่อมาเมื่อปี 2532 นาย ข. ถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนาง ก. ได้ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นชื่อของนาง ก. และนาง ก. ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นมาโดยตลอด ในช่วงปี 2541 ถึงปี 2549 นาง ก. เคยทำหนังสือมอบอำนาจให้นายจันทร์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของนาง ก. แต่ต่อมานาง ก. ไม่ไว้ใจนายจันทร์เนื่องจากนายจันทร์มีพฤติกรรมที่ทำให้ชวนสงสัยว่าอาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของนาง ก. จึงเพิกถอนการมอบอำนาจให้จัดการทรัพย์สินดังกล่าว ต่อมานาง ก. ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายอังคาร หลังจากนั้นไม่นานนาง ก. ถึงแก่ความตาย
    ในปี 2560 นายจันทร์ได้ฟ้องนายอังคาร ขอแบ่งที่ดินที่จังหวัดชลบุรี โดยอ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นมรดกของนาย ข. และนายจันทร์เป็นทายาทคนหนึ่งที่มีสิทธิรับมรดกของนาย ข.
    ที่ดินแปลงพิพาทที่จังหวัดชลบุรีแปลงนี้เป็นสินสมรสที่นาง ก. และนาย ข. ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างสมรส เมื่อนาย ข. ถึงแก่ความตาย กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้กึ่งหนึ่งจึงตกเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งได้แก่นาง ก. นายจันทร์ และนายอังคาร
    แต่การที่ทายาทคนหนึ่งจะฟ้องเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร จะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายไม่ได้
    ในกรณีนี้นายจันทร์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว ตามปกติย่อมต้องถือว่าคดีขาดอายุความมรดกไปเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อที่มีการต่อสู้ประการหนึ่งคือตามมาตรา 1748 หากทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ทายาทคนนั้นมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้จะพ้นกำหนดอายุความดังกล่าว
    สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่กฎหมายให้ไว้แก่ทายาทที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกอยู่ แต่กรณีนี้นายจันทร์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ดังกล่าว เพราะแต่เดิมนาง ก. เป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงนี้อยู่ และต่อมานาง ก. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายอังคารด้วย โดยนายจันทร์ไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้แต่อย่างใด
    หากนายจันทร์จะมีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ปรากฎว่าทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นได้ครอบครองแทนทายาทคนอื่นมาโดยตลอดซึ่งทำให้รวมถึงนายจันทร์ด้วย หากเป็นเช่นนั้นนายจันทร์ก็จะมีสิทธิขอแบ่งมรดกได้แม้จะพ้นกำหนด 10 ปีแล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่าแต่เดิมนาง ก. เป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงนี้มาโดยตลอด โดยที่นาง ก. ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ข. ด้วย และมีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่าการครอบครองนี้มีเจตนาครอบครองเพื่อตน เช่น การไปขอออกโฉนดเป็นชื่อตนเองคนเดียว การดูแลจัดการต่างๆ นายจันทร์ที่เป็นโจทก์มาฟ้องขอแบ่งมรดก็เคยเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้จัดการทรัพย์สินของนาง ก.ซึ่งรวมถึงที่ดินแปลงนี้แต่ก็ไม่เคยทักท้วง นอกจากนั้น ตามมาตรา 1369 เองก็มีข้อสันนิษฐานไว้ด้วยว่าบุคคลที่ยึดถือทรัพย์ใดไว้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ายึดถือเพื่อตน ทำให้ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่าการครอบครองของนาง ก. ไม่ได้เป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่น การที่นายอังคารรับโอนที่ดินนั้นต่อมาก็เป็นการสืบสิทธิดังกล่าวของนาง ก.มาด้วย
    เมื่อนายจันทร์ไม่ได้เป็นทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดกอยู่และการที่ทายาทคนอื่นครอบครองทรัพย์ไว้ไม่เป็นการครอบครองไว้แทนทายาทคนอื่นด้วย นายจันทร์ย่อมต้องฟ้องขอแบ่งมรดกภายในกำหนดอายุความปกติคือ 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก และจะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายไม่ได้
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 456/2564)

ความคิดเห็น • 5

  • @user-ev3rj3bf3l
    @user-ev3rj3bf3l ปีที่แล้ว +1

    มีประโยชน์ต่อประชาชนมาก เรียบเรียงเรื่องได้ดีง่ายที่จะเข้าใจ พิธีกรมีน้ำเสียงที่น่าฟังทำให้ติดตามได้ต่อเนื่อง ที่สำคัญคือศาลจะได้ใกล้ชิดประชาชนมากขี้น

  • @tamjai2026
    @tamjai2026 ปีที่แล้ว +1

    ขอติอย่างเดียวคือเสียงประกอบดังเกินไปครับ นอกนั้นดีหมด มีประโยชน์มากครับ

  • @blackbird4005
    @blackbird4005 ปีที่แล้ว

    ขอบคุณครับ

  • @user-vh3kn6dn1d
    @user-vh3kn6dn1d 8 หลายเดือนก่อน

    ขอบคุณมากค่ะ ได้ความรู้มากเลค่ะ

  • @darkhorse8079
    @darkhorse8079 ปีที่แล้ว

    สาระดีๆมีมาเรื่อยๆครับ