ฎีกา InTrend EP.4 แย่งการครอบครองที่ดินไม่มีโฉนด

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 3 ก.พ. 2021
  • ฎีกา Intrend ep.4 แย่งการครอบครองที่ดินไม่มีโฉนด
    นายสรวิศ ลิมปรังษี
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ เจริญยศ
    Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร ศิลาบำเพ็ญ
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    ที่ดินถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าและมีราคามากสำหรับคนส่วนใหญ่ ทำให้เกิดเรื่องอยู่เสมอด้วยความมีราคาค่างวดและเป็นปัจจัยในการทำมาหากินสำหรับหลาย ๆ คนด้วยเช่นกันทำให้มีการเข้าไปยุ่งเกี่ยว ตลอดถึงการเข้าไปยึดเอาที่ดินของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ที่ดินแต่ละแห่งมีสถานะแตกต่างกันอยู่ประการหนึ่งคือ ที่ดินที่มีโฉนด เราถือว่าผู้มีชื่อในโฉนดเป็น “เจ้าของ” และมี “กรรมสิทธิ์” แต่ถ้าที่ดินนั้นไม่มีโฉนดแล้วคนที่ครอบครองอยู่จะมีเพียงสิทธิที่เรียกว่า “สิทธิครอบครอง” เท่านั้น ซึ่งข้อแตกต่างที่ตามมาคือการเสียสิทธิที่มีอยู่ของที่ดินทั้งสองประเภทก็ไม่เหมือนกันตามไปด้วยอันจะเป็นที่มาของเรื่องราวในตอนนี้ที่จะนำกรณีที่มีคนเข้าไปแย่งการครอบครองที่ดินที่ไม่มีโฉนดมาเป็นข้อคิดและข้อควรระวัง
    นายชวด มีที่ดินแปลงหนึ่งเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) นายชวด ได้ให้นายขาล ซึ่งเป็นญาติทำมาหากินในที่ดินแปลงนั้น เนื่องจากนายชวดไปทำธุรกิจและพักอาศัยที่จังหวัดอื่น ต่อมานายชวดเสียชีวิต นายกุน ซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทของนาชวด จึงได้เรียกร้องให้นายขาล ส่งมอบที่ดินคืนให้แก่กองมรดก เพื่อจะได้เอาไปแบ่งปันระหว่างทายาท เมื่อนายขาล ไม่ส่งมอบที่ดินคืน นายกุน จึงได้ฟ้องให้นายขาล ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ยึดถือไว้คืนเพื่อจะนำไปจัดการทางทะเบียน ศาลมีคำพิพากษาจนคดีถึงที่สุดแล้วให้นายขาลส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนให้แก่นายกุน
    ถ้าหากเรื่องราวจบลงแค่นั้นก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่เรื่องกลับไม่ยอมจบลงง่าย ๆ ตามประสาของการที่พอจะสูญเสียอะไรไป คนเราหลายคนก็พยายามหาวิธีการทุกวิธีเพื่อจะรั้งหรือหลีกเลี่ยงความสูญเสียนั้น แม้แต่พยายามจะหาช่องทางตามกฎหมายเท่าที่พอจะหาได้
    สิ่งที่นายขาลทำก็คือ การส่งหนังสือแจ้งไปยังนายกุน บอกว่าการที่นายขาลยึดถือครอบครองที่ดินผืนนั้น นับแต่นี้ต่อไปนายขาลจะยึดถือเพื่อประโยชน์ตนเองแล้ว ไม่ได้เป็นการครอบครองแทนคนอื่นซึ่งก็คือผู้มีสิทธิโดยชอบตามกฎหมายอยู่แต่เดิม หากถามว่าทำไมนายขาลทำแบบนั้น เหตุผลคงเป็นเพราะว่าตามปกติสำหรับที่ดินที่ไม่มี “กรรมสิทธิ์” เหล่านี้ หากมีคนอื่นมาแย่งการครอบครองจากเรา เราที่เป็นผู้มีสิทธิจะต้องฟ้องร้องเรียกร้องคืนภายใน 1 ปี มิฉะนั้นจะเสียสิทธิที่จะเรียกร้องที่ดินผืนนั้นคืน นายขาลจึงต้องการจะใช้ช่องทางนี้มาแสวงหาประโยชน์ โดยอ้างว่าเมื่อนายกุนไม่มาฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปีจึงเสียสิทธิที่จะเรียกร้องได้อีก
    กรณีที่คนซึ่งครอบครองอยู่นั้นเป็นผู้ครอบครองแทนผู้มีสิทธิ ไม่ว่าจะครอบครองอยู่นานกี่ปีหรือกี่สิบปีก็จะไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ เป็นของตนเอง แต่หากจะทำให้เกิดสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นของตนเองคนที่ครอบครองแทนจะต้องแสดงเจตนาไปยังผู้มีสิทธิให้ทราบว่านับแต่ที่ได้บอกให้รู้เขาจะไม่ได้ครอบครองแทนเพื่อประโยชน์ของผู้มีสิทธิอยู่เดิม แต่จะครอบครองเพื่อประโยชน์ตนเอง พูดง่าย ๆ คือจะแย่งของ ๆ เขาแล้วนั้นเอง ซึ่งหากเป็นแบบนั้นก็จะต้องฟ้องร้องเอาคืนภายใน 1 ปีอย่างที่ได้กล่าวไป
    แต่ในกรณีนี้ในคดีที่เกิดขึ้นจริง ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้ซึ่งอาจพอสรุปได้ว่า แม้แต่เดิมมากรณีอย่างเช่นนายขาลที่เข้าไปครอบครองเพราะผู้มีสิทธิอนุญาตให้ไปครอบครองทำประโยชน์ การครอบครองของนายขาลจึงเป็นการครอบครองแทนผู้มีสิทธิก็ตาม แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้วว่านายขาลไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินนั้นแล้ว และต้องส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นายกุน การที่นายขาลครอบครองหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาจึงไม่ใช่การครอบครองแทนผู้มีสิทธิที่จะสามารถมาแสดงเจตนาบอกกล่าวเพื่อเปลี่ยนการยึดถือเป็นการยึดถือเพื่อประโยชน์ของตนเองได้อีก แต่เป็นการครอบครองโดยมิชอบและอยู่ภายใต้บังคับตามคำพิพากษาในคดีก่อนอยู่แล้ว การส่งหนังสือไปบอกกล่าวอย่างในกรณีนี้จึงไม่ใช่เหตุที่นายขาลจะอ้างเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีก่อนได้ นายขาลและบริวารจึงต้องออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว
    ข้อคิดที่ทำให้เราต้องระวังจากเรื่องนี้คือ หากเราเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่ไม่มีโฉนดซึ่งเรามีเพียง “สิทธิครอบครอง” หากมีคนมาแย่งสิทธิของเราต้องรีบดำเนินการเรียกคืนภายใน 1 ปี มิฉะนั้นเราอาจเสียสิทธิได้ แม้ว่าคนที่มาแย่งนั้นจะเป็นคนที่เราเคยอนุญาตให้อยู่ในที่ดินนั้นก็ตาม เพราะเขาอาจทำอย่างนายขาลมาบอกกล่าวว่าเขาจะยึดถือเอาที่ดินนั้นเป็นของตนเองแล้วที่จะทำให้ระยะเวลาเรียกร้องที่ดินคืน 1 ปีนั้นเริ่มนับทันที เพราะฉะนั้นก็ระวังรักษาดูแลผลประโยชน์ของตัวเองไว้ก่อนเป็นการดีที่สุด
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5860/2562)

ความคิดเห็น •