ฎีกา InTrend EP.2 ยักยอกเงินมรดก

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 20 ม.ค. 2021
  • ฎีกา intrend ep.2 ยักยอกเงินมรดก
    นายสรวิศ ลิมปรังษี
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ เจริญยศ
    Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร ศิลาบำเพ็ญ
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    คดีหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างญาติพี่น้องด้วยกันเองที่น่าเสียดายที่แม้จะคลานตามกันมา แต่พอมีเรื่องของทรัพย์สินและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องแล้วกลับทำให้พี่น้องกลับกลายเป็นเหมือนศัตรูกัน ทั้ง ๆ ที่เงินหรือทรัพย์สินเหล่านั้นมักเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อแม่ที่อุตส่าห์ตรากตรำสร้างขึ้นมาและเก็บหอมรอบริบไว้ให้ลูกหลาน แต่เงินหรือทรัพย์สินเหล่านั้นกลายเป็นต้นเหตุของความบาดหมางระหว่างพี่น้องแทนจนทำให้อาจกลายเป็นความผิดอาญาที่หากมีการเบียดบังเอาทรัพย์มรดกนั้นไปเป็นของทายาทบางคน
    ในกรณีที่นำมาเล่าสู่กันฟังในคราวนี้ สมมติว่านายจันทร์กับนายอังคารเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน บิดามารดาของทั้งสองคนได้สร้างสมทรัพย์สินไว้หลายอย่าง ที่สำคัญคือเป็นที่ดิน ในระหว่างที่บิดามารดามีชีวิตอยู่ได้ใส่ชื่อนายอังคารเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้นไว้ ต่อมาเมื่อบิดามารดาของทั้งสองคนเสียชีวิต ศาลได้มีคำสั่งตั้งนายจันทร์เป็นผู้จัดการมรดก นายอังคารไม่ยอมนำที่ดินที่แปลงดังกล่าวมาแบ่งปันกัน อ้างว่าตนเองซื้อที่ดินมาด้วยเงินตัวเอง นายจันทร์ได้ฟ้องเรียกที่ดินแปลงดังกล่าวจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นทรัพย์มรดกที่ต้องนำมาแบ่งปันกันในระหว่างนั้น นายอังคารได้เคยนำที่ดินไปให้คนอื่นเช่าและเก็บค่าเช่าไว้กับตนเองต่อมาปรากฏว่าที่ดินแปลงนั้นถูกเวนคืน นายอังคารได้รับเงินค่าเวนคืนจากทางราชการ เมื่อนายจันทร์ใช้สิทธิเรียกร้องให้นายอังคารส่งมอบเงินค่าเวนคืนและเงินค่าเช่าที่ได้รับไว้ให้แก่กองมรดกเพื่อนำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาท นายอังคารก็ส่งจดหมายปฏิเสธไม่ยอมส่งเงินให้กองมรดกตามที่ถูกเรียกร้อง
    ในเรื่องลักษณะนี้จึงเข้าข่ายการกระทำความผิดที่เป็นการ “ยักยอก” เพราะหากเราครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมกับเราที่แม้เราจะเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งด้วยก็ตาม แต่ถ้าเราทำการ “เบียดบัง” ที่ต้องการเอาทรัพย์สิ่งนั้นมาเป็นของตัวเองคนเดียวที่ย่อมทำให้คนที่เป็นเจ้าของหรือเป็นเจ้าของรวมกับเราเขาเสียหายสูญเสียทรัพย์สิ่งนั้นไป
    ในกรณีนี้แม้ทรัพย์ที่เป็นมรดกแต่แรกเริ่มเดิมทีจะเป็น “ที่ดิน” ก็ตาม แต่เมื่อที่ดินนั้นถูกทางราชการเวนคืนไปแล้วก็ตาม แต่ “เงินค่าเวนคืน” ก็เป็นเหมือนทรัพย์ที่ได้มาแทนที่ที่ดินที่เป็นมรดกอยู่เดิม เงินค่าเวนคืนจึงถือว่าเป็นทรัพย์มรดกไปด้วย เงินอีกก้อนหนึ่งคือ “ค่าเช่า” ที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดก เมื่อที่ดินนั้นเป็นทรัพย์มรดกอยู่แล้ว เงินค่าเช่าก็เป็น “ดอกผล” ของกองมรดกจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกที่ต้องส่งมอบมาแบ่งปันในระหว่างทายาทด้วยเช่นกัน
    การที่นายอังคารไม่ยอมส่งคืนเงินค่าเวนคืนและเงินค่าเช่าที่ตนเองเก็บไว้ให้นายจันทร์ พี่ชายที่เป็นผู้จัดการมรดก โดยส่งหนังสือตอบปฏิเสธมาให้เห็นด้วยว่าถึงอย่างไรตนเองก็จะไม่ยอมส่งมอบเงินนั้นคืนให้ โดยอ้างเหตุผลเดิม ๆ ที่ว่าตนเองเป็นคนหาเงินมาซื้อที่ดินแปลงนั้นเอง ทั้ง ๆ ที่ศาลมีคำพิพากษาจนยุติไปแล้วว่าเป็นทรัพย์มรดก ไม่ใช่ที่ดินที่นายอังคารหาเงินมาซื้อเอง จึงเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่า นายอังคารต้องการที่จะ “เบียดบัง” เอาเงินค่าเวนคืนกับเงินค่าเช่าที่ดินนั้นไว้เป็นของตนเอง จึงทำให้การกระทำของนายอังคารกลายเป็นความผิดฐานยักยอกขึ้นมา
    บทเรียนประการหนึ่งที่เป็นที่มาของเรื่องทำนองนี้ที่มีคดีเกิดขึ้นไม่น้อยมักเกิดจากการที่พ่อแม่ทำมาหากินได้ทรัพย์สินมาแล้วใส่ชื่อของลูกคนใดคนหนึ่งด้วยความเชื่อใจว่าลูกคงไม่มีเจตนาทุจริต เอารัดเอาเปรียบพี่น้องด้วยกันเอง แต่บางทีก็คาดการณ์ได้ยากว่าลูกคนนั้นจะทำอะไรโดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่เสียแล้ว และอาจมีบุคคลที่สามที่สี่เข้ามาเกี่ยวข้องในอนาคตอีก เพราะฉะนั้น ทางที่ดีแม้จะไว้ใจลูกแต่ก็ควรระวังป้องกันปัญหาทำนองนี้ไว้ด้วยย่อมจะเป็นการดีที่สุด ไม่เช่นนั้นทรัพย์สมบัติที่อุตส่าห์หามาจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกต้องโทษทางอาญาไปโดยพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจ
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6532/2562)

ความคิดเห็น •