ฎีกา InTrend EP.7 หนี้ตามเช็คระงับ ความผิดเลิกกัน : นายสรวิศ ลิมปรังษี

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 24 ก.พ. 2021
  • ฎีกา Intrend ep. หนี้ตามเช็คระงับ ความผิดเลิกกัน
    นายสรวิศ ลิมปรังษี
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ เจริญยศ
    Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร ศิลาบำเพ็ญ
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    เช็คเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนหนักอกหนักใจอยู่เสมอ แม้ว่าทุกวันนี้เราจะใช้เช็คกันไม่มากเหมือนเมื่อก่อนแล้วก็ตาม ปัญหาที่ทำให้คนที่ออกเช็คกลัดกลุ้มนอกจากการหาเงินมาชำระหนี้ตามเช็คแล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความผิดอาญาที่เกิดจากการออกเช็คแล้วไม่มีการใช้เงินตามเช็ค ทำให้หลายคนอาจจะถึงขั้นติดคุกติดตะรางจากผลของความผิดดังกล่าว ในตอนนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงกรณีที่มีการประนีประนอมยอมความในมูลหนี้ตามเช็คที่จะมีผลทำให้ความผิดอาญาอันอาจเกิดจากการออกเช็คดังกล่าวต้องมีอันเลิกกันไปด้วย
    เรื่องราวที่จะนำมาเป็นกรณีศึกษาในที่นี้ สมมติว่านางสายออกเช็คให้แก่นางสวยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมที่นางสายกู้ยืมจากนางสวยมา ต่อมาเมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดชำระ นางสวยนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร แต่ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีมีไม่เพียงพอที่จะจ่ายได้ นางสวยจึงไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องให้นางสายชำระหนี้ตามเช็คให้แก่นางสวย นอกจากนั้น นางสวยก็ฟ้องนางสายเป็นคดีอาญาด้วยในข้อหาออกเช็คโดยไม่มีเจตนาใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ต่อมาในคดีแพ่ง นางสวยกับนางสายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ โดยนางสายตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่นางสวยตามจำนวนเงินและงวดที่กำหนดในสัญญานั้น ศาลในคดีแพ่งได้มีคำพิพากษาตามยอมจนคดีเสร็จเด็ดขาดไป ซึ่งทำให้เกิดเป็นปัญหาต่อมาว่าผลของการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลต่อคดีอาญาที่นางสวยฟ้องอยู่แค่ไหนเพียงไร
    กรณีลักษณะนี้ตาม พรบ. ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7ได้วางหลักการไว้ว่าถ้าหนี้ที่ผู้ออกเช็คได้ออกเช็คนั้นเพื่อใช้เงินได้สิ้นผลผูกพันไปก็จะมีผลทำให้คดีอาญานั้นเป็นอัน “เลิกกัน” ซึ่งมีความหมายที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าคดีอาญานั้นก็เป็นอันสิ้นสุดยุติลงและผู้ที่ออกเช็คที่เดิมอาจจะมีความผิดอาญาก็กลายเป็นไม่มีความผิดอีกต่อไป คดีอาญาก็ไม่อาจจะดำเนินต่อไปที่จะทำให้ผู้ออกเช็คต้องรับโทษใด ๆ ได้อีก
    ในกรณีระหว่างนางสายกับนางสวยนี้ เหตุการณ์ที่จะมีผลต่อคดีอาญาและทำให้เราต้องมาทำความเข้าใจกันจะเป็นในส่วนของการดำเนินคดีแพ่งที่นางสวยฟ้องนางสายเป็นอีกคดีหนึ่งแยกต่างหากจากคดีอาญาเรื่องเช็ค แต่ทั้งสองเรื่องเกี่ยวข้องกัน เพราะในคดีแพ่งก็เป็นการฟ้องเรียกเงินตามเช็คฉบับเดียวกันกับที่นำมาฟ้องคดีอาญานั่นเอง
    ในการดำเนินคดีแพ่ง ปรากฏว่านางสายกับนางสวยได้ทำ “สัญญาประนีประนอมยอมความ” กันในเรื่องที่ฟ้อง สัญญาดังกล่าวโดยเนื้อหาปกติก็เป็นเรื่องการตกลงชำระหนี้ให้แก่กัน เพียงแต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระเงินหรือยอดเงินที่จะต้องชำระให้แก่กันให้แตกต่างจากที่ฟ้องมา ผลของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ประการสำคัญคือการทำให้หนี้เดิมที่นางสายกับนางสวยมีอยู่ต่อกันจะเป็นอันระงับสิ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามเช็คที่นางสายออกให้ไว้ หรือแม้กระทั่งหนี้เงินกู้ยืมที่เป็นสาเหตุของการออกเช็คนั้น โดยถือว่าหนี้สินที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่จะกลายเป็นหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นใหม่นี้เท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นมีหนี้หลายอย่างที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ ลูกหนี้ก็ควรจะต้องรับผิดเพียงในยอดหนี้เดียวกัน
    ผลของการทำ “สัญญาประนีประนอมยอมความ” ที่ทำให้หนี้ตามเช็คหรือหนี้เงินกู้ยืมระงับไปนี่เองที่ส่งผลให้ความผิดอาญาในข้อหาที่นางสายออกเช็คโดยไม่มีเจตนาใช้เงินตามเช็คจึงเป็นอันเลิกกันไปตามที่มาตรา 7 กำหนดไว้ที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น
    เงื่อนแง่ประการหนึ่งที่ทำให้คดีนี้มีปัญหากันยืดยาวส่วนหนึ่งเป็นเพราะบังเอิญว่าในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นมีถ้อยคำอยู่ประโยคหนึ่งว่า “หากชำระหนี้ครบถ้วนโจทก์จะถอนฟ้องคดีเช็คในมูลหนี้เดียวกันนี้ให้กับจำเลย” ทำให้มีปัญหาว่าการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้น นางสวยต้องการจะให้คดีอาญาระงับไปด้วยหรือไม่ เพราะตามปกติในคดีอาญาที่เป็น “ความผิดต่อส่วนตัว” อย่างเช่นความผิดเกี่ยวกับการออกเช็ค จะระงับวิธีหนึ่งโดยการที่ผู้เสียหายตกลง “ยอมความ” ที่ไม่ติดใจจะเอาผิดหรือเอาความกับจำเลยอีกต่อไป ข้อความในสัญญานั้นจึงสื่อในทำนองที่ว่านางสวยยังไม่ได้ถึงขนาดที่จะไม่ติดใจเอาความกับนางสายอีกต่อไป เพราะจะถอนฟ้องต่อเมื่อตนเองได้รับชำระเงินครบเสียก่อน
    อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีของนางสายกับนางสวยในที่นี้ ข้อความดังกล่าวไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะการตกลงประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ทำให้หนี้ตามเช็คระงับไป ทำให้คดีอาญาต้องเลิกกันไปด้วยตามที่ พรบ. ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ กำหนดไว้เป็นกรณีต่างหากสำหรับความผิดเกี่ยวกับเช็คโดยตรง ซึ่งเป็นกรณีที่เพิ่มเติมจากการ “ยอมความ” ในคดีความผิดอาญาทั่วไป
    ดังนั้น กรณีลักษณะนี้เมื่อได้ความว่าหนี้ตามเช็คระงับไปเสียแล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง รวมถึงการระงับไปเพราะคู่กรณีไปตกลงกันทำสัญญาฉบับใหม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็จะทำให้ความผิดอาญาที่เกิดจากการออกเช็คฉบับนั้นต้องเป็นอันเลิกกันตามไปด้วย นางสายจึงไม่ต้องรับผิดที่เป็นโทษทางอาญาอีก แต่ยังมีหนี้ต้องจ่ายเงินตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นอยู่ดี
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4908/2562)

ความคิดเห็น •