ฎีกา InTrend Ep.144 จำเลยรับสารภาพ จะรับฟังพยานหลักฐานคดีส่วนแพ่งว่าโจทก์ร่วมมีส่วนประมาทจึงไม่ใช่..

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 31 ต.ค. 2023
  • ฎีกา InTrend Ep.144 จำเลยรับสารภาพ จะรับฟังพยานหลักฐานคดีส่วนแพ่งว่าโจทก์ร่วมมีส่วนประมาทจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยได้หรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, ทัสสญุชุ์ กุลสิทธิ์ชัยญา, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    สิทธิเรียกร้องทางแพ่งย่อมอาจเกิดจากการกระทำความผิดอาญาได้อยู่โดยสภาพที่การกระทำความผิดอาญามักมีลักษณะของการกระทำละเมิดทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย ทำให้ผู้ที่คิดว่าตนเสียหายย่อมอาจใช้สิทธิในการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ อย่างไรก็ตามบางครั้งอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานในคดีส่วนแพ่งว่าเหตุเกิดจากความประมาทของทั้งสองฝ่าย โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้หรือไม่
    นาย ก. ขับรถไปตามถนนและเกิดเหตุชนกับรถที่นาย ข. ขับมา นาย ข. ได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าพนักงานตำรวจได้สอบสวนและส่งให้พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาล
    นาย ก. ให้การรับสารภาพ ในระหว่างการพิจารณา นาย ข. ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม และยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1
    ในการสืบพยาน ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานปรากฏว่าเหตุที่ทำให้เกิดรถชนกันทั้งนาย ก. และนาย ข. มีส่วนก่อให้เกิดอุบัติเหตุพอ ๆ กัน
    ปัญหาในเรื่องนี้ข้อสำคัญคงอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบพยานนั้นจะมีผลต่อสิทธิของคู่ความที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางฝ่ายโจทก์ร่วมอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องในฐานะที่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในกรณีนี้ว่าการที่ตัวนาย ข. เองมีส่วนก่อให้เกิดอุบัติเหตุพอ ๆ กับการกระทำของนาย ก. จะมีผลต่อสิทธิดังกล่าวอย่างไร
    ในกรณีนี้คงต้องเริ่มจากความผิดที่นาย ก. ถูกดำเนินคดีซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
    ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ดังกล่าวจึงเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ที่ศาลอาจพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องสืบพยาน เพราะไม่ใช่ความผิดที่มีอัตราโทษขั้นต่ำตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป ในคดีนี้เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลและนาย ก. ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามที่นาย ก. ให้การรับสารภาพในคดีส่วนอาญาว่านาย ก. กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นาย ข. รับอันตรายสาหัสตามฟ้องของโจทก์
    การที่มีการสืบพยานต่อมาในคดีนี้เนื่องจากฝ่ายนาย ข. ได้ยื่นคำร้องขอให้นาย ก. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 ด้วยซึ่งเป็นการดำเนินคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาของนาย ก. ตามที่กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ จึงต้องมีการสืบพยานเพื่อให้คู่ความนำสืบถึงความเสียหายและค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้แก่กันในคดีส่วนแพ่งนี้
    ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มีแต่การกำหนดให้คดีส่วนแพ่งต้องถือตามข้อเท็จจริงส่วนอาญา แต่ไม่มีการกำหนดไว้ว่าหากทางพิจารณาในคดีส่วนแพ่งปรากฏข้อเท็จจริงแตกต่างจากในคดีส่วนอาญาแล้วจะทำให้มีผลต่อคดีส่วนอาญาไปด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการประมาทของฝ่ายนาย ข. ปรากฏในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงนี้ไปทำให้มีผลต่อสิทธิของนาย ข. ในการเข้าเป็นโจทก์ร่วม โดยไม่ทำให้สถานะของนาย ข. ที่จะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในคดีส่วนอาญาเสียไป นาย ข. ยังมีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
    ปัญหาที่ยังคงเหลืออยู่คงเป็นว่าถ้าเช่นนั้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความประมาทของฝ่ายนาย ข. จะนำไปใช้ในกรณีใดได้ ในส่วนความประมาทของนาย ก. นั้นเมื่อข้อเท็จจริงส่วนอาญาเป็นที่ยุติตามคำรับสารภาพว่านาย ก. กระทำโดยประมาท ข้อเท็จจริงนี้ย่อมผูกพันในคดีส่วนแพ่งด้วย แต่การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 กำหนดไว้ว่าหากความเสียหายเกิดจากความผิดของผู้เสียหายด้วย การกำหนดค่าสินไหมทดแทนต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ในกรณีนั้นว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของแต่ละฝ่ายมากน้อยเพียงใดตามที่มาตรา 223 กำหนด ดังนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความประมาทของฝ่ายนาย ข. คงมีผลเฉพาะการกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องชดใช้แก่กันเท่านั้น
    ดังนั้น หากจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหากระทำโดยประมาทต้องถือว่าข้อเท็จจริงส่วนอาญายุติตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำโดยประมาท ข้อเท็จจริงดังกล่าวผูกพันคดีส่วนแพ่งด้วย และไม่อาจนำข้อเท็จจริงจากการสืบพยานคดีส่วนแพ่งมามีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วในส่วนคดีอาญาได้อีก
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2565)

ความคิดเห็น • 3