จานเบรก แบบไหนควรเจียร แบบไหนควรเปลี่ยน

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 16 มี.ค. 2022
  • จานเบรก ทำหน้าที่ร่วมกับผ้าเบรกเพื่อช่วยในการหยุดรถหรือชะลอความเร็ว ระบบเบรกจะทำงานโดยดันผ้าเบรกให้สัมผัสกับจานเบรกเพื่อหยุดการหมุนของล้อ ดังนั้น เมื่อผ้าเบรกกับจานเบรกเกิดการเสียดสีกันจากการใช้งานไประยะหนึ่ง ก็ย่อมเกิดการสึกหรอ เกิดเสียงดังขณะเบรก หรือเกิดอาการสั่นสู้เท้าได้ นอกจากคุณภาพและความหนาของจานเบรกแล้ว เนื้อของผ้าเบรกที่มีหลายประเภท หลายคุณสมบัติ ก็มีส่วนทำให้จานเบรกสึกหรอมาก-น้อยแตกต่างกันไปด้วย
    จานเบรก แบบไหนควรเจียร แบบไหนควรเปลี่ยน
    1.จานเบรกลื่นหรือด้าน
    อาจเกิดจากการเสียดสีของเศษฝุ่นจากผ้าเบรกที่มาเกาะอยู่บนหน้าจานเบรก ทำให้เมื่อจานเบรกกับผ้าเบรกเสียดสีกันจะเกิดความร้อนสะสม ส่งผลให้จานเบรกเกิดการกระด้าง แข็งหรือลื่นได้ การเจียรคราบที่เกาะอยู่บนผิวหน้าจานเบรกออกจะเป็นการช่วยให้จานเบรกกับผ้าเบรกสัมผัสกันได้เต็มที่ เพิ่มประสิทธิภาพในการจับกับหน้าผ้าเบรกได้ดียิ่งขึ้น
    2.จานเบรกเป็นรอย เป็นร่อง เป็นเส้น
    อาจเกิดจากเนื้อผ้าเบรกหมดจนถึงเหล็กตัวเตือน ทำให้เหล็กของผ้าเบรกเสียดสีกับเหล็กของจานเบรก เกิดเป็นรอยบนผิวหน้าของจานเบรก ทำให้เกิดเสียงดังทุกครั้งที่เหยียบเบรก และที่สำคัญทำให้ประสิทธิภาพในการเบรกลดลง กรณีที่ความหนาของจานเบรกยังไม่น้อยกว่าที่กำหนด สามารถแก้ไขโดยการเจียรจานเบรกได้ แต่หากความหนาของจานเบรกต่ำกว่าที่กำหนด ควรเปลี่ยนจานเบรกใหม่ทันที เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการเบรก (ค่าความหนาต่ำสุดของจานเบรกระบุไว้ที่บริเวณขอบจาน)
    3.จานเบรกสึก ผิวหน้าไม่สม่ำเสมอ
    อาจเกิดจากเนื้อของผ้าเบรกที่ไม่มีความสม่ำเสมอ หรือผ้าเบรกที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้เนื้อของผ้าเบรกกัดจานเบรกจนสึก เป็นคลื่น เป็นร่องลึกเฉพาะจุด ก่อให้เกิดเสียงหอนดังรบกวน และทำให้พื้นที่สัมผัสของจานเบรกและผ้าเบรกลดลง ทำให้ประสิทธิภาพในการเบรกลดลงเช่นกัน สามารถแก้ไขโดยการเจียรจานเบรก แต่หากรอยสึกมีความลึกมาก ควรเปลี่ยนจานเบรกใหม่ เพื่อประสิทธิภาพในการเบรกที่ดีขึ้น
    4.จานเบรกเป็นรอยร้าว
    อาจเกิดจากจานเบรกมีค่าความหนาต่ำกว่ากำหนด หรือในกรณีจานเบรกแบบเจาะรูเริ่มบางจะสามารถร้าวได้ง่ายกว่าจานเบรกแบบเรียบเพราะเนื้อจานเบรกมีความหนาแน่นที่น้อยกว่า ทำให้จานเบรกเกิดรอยร้าวได้ง่ายกว่า หากรอยร้าวเป็นแค่บริเวณผิวหน้านิดหน่อย ก็สามารถที่จะเจียรออกได้ แต่มีโอกาสร้าวตามมาได้อีกในภายหลัง เนื่องจากคุณสมบัติของเนื้อจานเบรกเปลี่ยนไป ขอแนะนำให้เปลี่ยนจานเบรกใหม่เลยจะดีกว่า
    5.จานเบรกคด บิดเบี้ยว หรือผิดรูป
    ส่วนมากเกิดจากการที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้จานเบรกเกิดการหดตัวอย่างรวดเร็ว และเนื้อเหล็กในแต่ละด้านหดตัวไม่เท่ากัน จนทำให้จานเบรกเกิดการคดได้ โดยเฉพาะการฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าไปที่จานเบรกในขณะที่จานเบรกยังร้อนอยู่ จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดจานเบรกคด บิดเบี้ยว หรือผิดรูปได้ ซึ่งเป็นที่มาของอาการเบรกสู้เท้า หากจานเบรกคดไม่มาก สามารถเจียรแก้ไขได้ แต่หากจานเบรกคดมาก ควรเปลี่ยนจานเบรกใหม่ เพื่อประสิทธิภาพในการเบรกที่ดี และนุ่มนวลขึ้น
    6.จานเบรกร้อนจัด หรือมีการเปลี่ยนสี
    สาเหตุเกิดจากความร้อนสะสมที่สูงขึ้น อาจเกิดได้จากการใช้ผ้าเบรกที่มีเนื้อแข็ง หรืออาการเบรกติดจนผ้าเบรกเกิดการเสียดสีกับจานเบรกอยู่ตลอดเวลา ทำให้คุณสมบัติของเหล็กจานเบรกเกิดการแปรสภาพ สามารถแก้ไขโดยการเจียรออกได้ระดับนึง หากจานเบรกมีการเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ทิ้งไว้สักพักจานเบรกจะกลับสู่สภาพที่ใช้งานได้ แต่หากจานเบรกเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม ควรเปลี่ยนจานเบรกใหม่ทันที
    7.จานเบรกเป็นสนิม
    เกิดจากความชื้นที่อยู่บนจานเบรก ซึ่งอาจเกิดจากฝน การลุยน้ำท่วม หรือการล้างรถ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เมื่อจานเบรกเป็นสนิมแล้ว จะไม่สามารถหายไปเองได้ แถมสนิมยังสามารถกัดจานเบรกให้เป็นรอยตามเนื้อสนิมได้อีกด้วย ทำให้เวลาเบรกมีอาการลื่น ประสิทธิภาพในการเบรกลดลง การเจียรจานเบรกขึ้นอยู่กับความมาก-น้อยของสนิม หากเป็นสนิมไม่มาก สามารถเจียรจานเบรกแก้ไขได้ แต่หากเป็นสนิมมาก ควรเปลี่ยนจานเบรกใหม่ไปเลย
    #จานเบรกแบบไหนควรเจียรแบบไหนควรเปลี่ยน
    #จานเบรก #ADVICS #แอดวิคส
    #AISIN #AISINTHAILAND #Qualityfirst
    #อะไหล่ #อะไหล่รถยนต์
    #สินค้าคุณภาพ
    #มโนยนต์ #มโนยนต์ชัย
    #Manoyontchai #ManoyontGroup
    ขอบคุณข้อมูลจาก : ADVICS Thailand

ความคิดเห็น •