ฎีกา InTrend Ep.155 จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะยกเรื่องดอกเบี้ยหนี้จำนองค้างเกิน 5 ปีขึ้นพิจารณา..

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 30 ม.ค. 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.155 จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะยกเรื่องดอกเบี้ยหนี้จำนองค้างเกิน 5 ปีขึ้นพิจารณาเองได้หรือไม่
    ฎีกา InTrend Ep.155 จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะยกเรื่องดอกเบี้ยหนี้จำนองค้างเกิน 5 ปีขึ้นพิจารณาเองได้หรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, ทัสสญุชุ์ กุลสิทธิ์ชัยญา, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    การที่หนี้ขาดอายุความหรือไม่นั้น ปกติแล้วเป็นเรื่องที่ลูกหนี้จะต้องยกขึ้นต่อสู้ศาลจึงจะยกเรื่องอายุความนั้นขึ้นพิจารณาเองได้ หากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การเสียแล้วโดยสภาพย่อมไม่ได้ยกข้อต่อสู้ใด ๆ ขึ้นต่อสู้กับเจ้าหนี้ได้ แต่อาจมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในบางกรณีเกี่ยวกับหนี้บางประเภทได้ ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะยกเรื่องดอกเบี้ยหนี้จำนองค้างเกิน 5 ปีขึ้นพิจารณาเองได้หรือไม่
    นาย ก. กู้เงินจากธนาคารแห่งหนึ่งเป็นเงิน 5 แสนบาท โดยจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าว
    นาย ก. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2548 ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับทางธนาคารเพื่อผ่อนชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้าง แต่นาย ก. ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่ครบถ้วนตามสัญญา โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ธนาคารจึงได้ฟ้องนาย ก. ให้รับผิดชดใช้หนี้ที่ค้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นาย ก. ขาดนัดยื่นคำให้การ
    กรณีนี้ในเรื่องความรับผิดของนาย ก. ที่จะต้องชำระหนี้ที่ค้างให้แก่ธนาคารนี้ถือว่าเป็นกรณีมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนคืนทุนเป็นงวด ๆ มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2) แต่นาย ก. ชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งสุดท้ายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 การที่ธนาคารเพิ่งมาฟ้องเมื่อปี 2563 จึงเกินกำหนดอายุความตามที่กฎหมายกำหนด
    อย่างไรก็ตาม เรื่องอายุความนี้เป็นเรื่องที่ลูกหนี้จะต้องยกขึ้นต่อสู้ก่อนศาลจึงจะมีอำนาจยกขึ้นพิจารณาได้ แต่ในกรณีนี้นาย ก. ขาดนัดยื่นคำให้การ นาย ก. จึงไม่ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความขึ้นโดยสภาพอยู่แล้ว ในส่วนของอายุความหนี้เงินกู้นี้ ศาลจึงไม่สามารถยกขึ้นพิจารณาเองได้ เพราะไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นาย ก. จึงยังคงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ทั้งในส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้แก่ธนาคาร
    แต่กรณีนี้นาย ก. ได้จดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้ด้วย ในการฟ้องคดีนี้ นอกจากธนาคารเจ้าหนี้จะฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้แล้ว ธนาคารยังฟ้องบังคับจำนองด้วยเพื่อที่จะยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ในส่วนของสัญญาจำนองนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 กำหนดไว้ว่าเจ้าหนี้ผู้รับจำนองสามารถบังคับเอากับทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานขาดอายุความ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ บทบังคับของกฎหมายดังกล่าวแม้จะให้สิทธิเจ้าหนี้ในการบังคับจำนองได้แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จะบังคับชำระดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ ซึ่งถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทำให้แม้ในกรณีนี้นาย ก. จะขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ได้ ศาลก็มีอำนาจยกปัญหาเรื่องอายุความเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้จำนองขึ้นพิจารณาเองได้
    แต่กรณีนี้ก็มีข้อสังเกตว่าเนื่องจากจำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ในส่วนหนี้เงินกู้ที่เป็นหนี้ประธาน ธนาคารก็ยังมีสิทธิบังคับชำระดอกเบี้ยหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระได้ครบถ้วน เพียงแต่สำหรับส่วนของดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปีเป็นการบังคับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้สามัญที่ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าเจ้าหนี้สามัญอื่น หากขายทรัพย์จำนองได้เงินมากกว่าหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 5 ปี เงินส่วนที่เกินไปนี้เป็นเงินส่วนที่เจ้าหนี้สามัญอื่นมาขอเฉลี่ยได้ตามปกติ
    ดังนั้น แม้ในกรณีที่ลูกหนี้เงินกู้ขาดนัดยื่นคำให้การซึ่งศาลไม่อาจยกเรื่องอายุความหนี้เงินกู้ขึ้นพิจารณาเองได้ แต่ศาลอาจยกเรื่องอายุความบังคับชำระดอกเบี้ยหนี้จำนองที่บังคับได้เฉพาะดอกเบี้ยที่ค้างไม่เกิน 5 ปี ตามมาตรา 745 ขึ้นพิจารณาเองได้
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3372/2565)

ความคิดเห็น • 2

  • @user-qt5gr6bt2q
    @user-qt5gr6bt2q 2 หลายเดือนก่อน

    ขอบคุณค่ะ

  • @kompusitrattananiramolskul3841
    @kompusitrattananiramolskul3841 4 หลายเดือนก่อน +1

    นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีสิทธิ์นำที่ดินส่วนกลางไปให้บุคคลอื่นเช่าหรือไม่