ฎีกา InTrend Ep.93 ฟ้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เงินกู้ หนี้เบิกเงินเกินบัญชี และค่าเบี้ย......

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 14 ต.ค. 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.93 ฟ้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เงินกู้ หนี้เบิกเงินเกินบัญชี และค่าเบี้ยประกันต้องนับอายุความอย่างไร
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : วิญญู พิชัย,สรวิศ ลิมปรังษี,ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิตติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์,กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้และลูกหนี้อาจดำเนินการได้หลายลักษณะและวิธีการ แต่แนวทางหนึ่งที่มักมีการทำอยู่เสมอคือเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่อาจจะมีการตกลงกันเกี่ยวกับหนี้ที่ค้างชำระอยู่ว่าจะดำเนินการกันอย่างไรต่อไป แต่การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก็ไม่มีหลักประกันว่าเมื่อทำไปแล้วจะไม่เกิดปัญหาขึ้น หลาย ๆ กรณีก็เกิดการผิดนัดชำระหนี้หลังการทำสัญญาไปแล้ว ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปแล้วผิดนัดชำระหนี้จะต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความเท่าใด
    นายหมีได้ขอสินเชื่อจากธนาคารแห่งหนึ่งหลายรายการ โดยได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน จำนวน 1,000,000 บาท และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี พร้อมทั้งจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นประกัน ตามสัญญากำหนดให้มีการทำประกันภัยสิ่งปลูกสร้างด้วย หากนายหมีไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยยอมให้ธนาคารชำระไปก่อนแล้วมาเรียกคืนจากนายหมีได้
    ต่อมานายหมีผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารจึงได้เรียกนายหมีมาพูดคุย ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่นายหมีรับว่าเป็นหนี้ตามรายการดังกล่าวต่อธนาคาร โดยนายหมีตกลงจะผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่ธนาคารภายใน 5 ปี โดยถือหลักประกันตามสัญญาเดิมเป็นหลักประกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย
    นายหมีผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้อีกจนเป็นเหตุให้ธนาคารนำคดีมาฟ้องเพื่อบังคับให้นายหมีชำระหนี้ นายหมีต่อสู้ว่าธนาคารฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี เนื่องจากสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กำหนดให้ต้องมีการผ่อนคืนทุนเป็นงวด ๆ การฟ้องตามสัญญาดังกล่าวจึงต้องใช้อายุความ 5 ปี
    การกำหนดอายุความที่เป็นข้อโต้เถียงในกรณีนี้เกิดจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 กำหนดอายุความไว้ 5 ปี สำหรับหนี้เงินที่ต้องผ่อนชำระคืนทุนเป็นงวด ๆ หากถือว่าสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตกอยู่ภายใต้กำหนดอายุความดังกล่าวแล้วอาจทำให้คดีที่ธนาคารฟ้องนายหมีนี้ขาดอายุความได้
    อย่างไรก็ตาม กรณีนี้การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายนี้เกิดจากหนี้ที่นายหมีไปขอสินเชื่อรูปแบบต่าง ๆ จากธนาคารหลายประเภทเพียงแต่มีการผิดนัดชำระหนี้ต่าง ๆ เหล่านั้นจนเป็นที่มาของการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายนี้ แต่เมื่อดูจากข้อตกลงระหว่างธนาคารกับนายหมีแล้วไม่ปรากฏข้อความที่แสดงให้เห็นว่าคู่กรณีตั้งใจจะให้มูลหนี้เดิมไม่ว่าจะเป็นสัญญากู้ยืมหรือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระงับไป นอกจากนั้น สัญญายังกำหนดให้ถือหลักประกันตามสัญญาเดิมเป็นหลักประกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย
    ทำให้การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้นี้ไม่เป็นการ “แปลงหนี้ใหม่” ที่จะทำให้มูลหนี้เดิมระงับไป การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จึงเป็นเพียงมาตกลงจัดการเรื่องวดการชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมเหล่านั้นเท่านั้น การนับอายุความฟ้องร้องคดีจึงต้องกลับไปดูอายุความของมูลหนี้แต่ละรายไปว่าขาดอายุความในแต่ละส่วนเหล่านั้นหรือไม่
    กรณีนี้เมื่อดูเรื่องสัญญากู้ยืมเงินแล้วย่อมเป็นเรื่องหนี้เงินที่ต้องผ่อนคืนทุนเป็นงวด ๆ ซึ่งมีอายุความ 5 ปีตามที่กล่าวข้างต้น แต่เมื่อนับจากวันที่นายหมีชำระหนี้ให้แก่ธนาคารครั้งสุดท้ายที่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงแล้วเกิน 5 ปี หนี้ส่วนนี้จึงขาดอายุความ
    สำหรับหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ไม่ใช่หนี้ที่มีกำหนดให้ผ่อนคืนทุนเป็นงวด ๆ เพราะเป็นเรื่องที่ธนาคารให้นายหมีเบิกเงินเกินกว่าเงินฝากที่มีแต่ไม่ได้กำหนดเวลาผ่อนชำระคืนเป็นงวด ๆ ที่แน่นอน จึงมีอายุความ 10 ปี เมื่อนับจากวันที่นายหมีชำระหนี้ครั้งสุดท้ายแล้วไม่เกิน หนี้ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ
    ในส่วนหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยถือว่าการที่ธนาคารจ่ายเงินไปก่อนเป็นเรื่องที่ตัวแทนจ่ายไปแทนตัวการตามข้อตกลงที่ให้ธนาคารมีสิทธิจ่ายเงินนี้ไปก่อนแล้วค่อยมาเรียกคืนได้ จึงมีอายุความ 10 ปี เมื่อนับจากวันที่จ่ายไปถึงวันฟ้องแล้วไม่เกิน 10 ปี หนี้ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ
    กรณีที่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ไม่ได้มีการตกลงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของหนี้เดิมและไม่ได้มีการแสดงให้เห็นว่าต้องการให้หนี้เดิมระงับไป การนับอายุความฟ้องร้องคดีต้องพิจารณาจากอายุความของหนี้เดิมเป็นรายกรณีไป ไม่อาจนับรวมกันโดยถือเอาสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นหลักได้
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2564)

ความคิดเห็น • 4