ฎีกา InTrend EP.34 ตกลงว่าจ้างแต่ยังไม่ลงนามสัญญา หากมีการยกเลิกงานผู้รับจ้างจะเรียกร้องค่าใช้จ่าย..

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 31 ส.ค. 2021
  • ฎีกา InTrend ep.34 ตกลงว่าจ้างแต่ยังไม่ลงนามสัญญา หากมีการยกเลิกงาน ผู้รับจ้างจะเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เสียไปแล้วได้หรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ เจริญยศ
    Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
    การทำงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจหรือแม้แต่คนเราโดยทั่วไปย่อมยากที่จะทำทุกสิ่งได้ด้วยตนเอง ทำให้ต้องมีการว่าจ้างให้คนอื่นมาช่วยทำงานบางอย่างให้ แต่ในการว่าจ้างนี้ก็เป็นสาเหตุของปัญหาและข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ ปัญหาในตอนนี้จะเป็นกรณีที่มีการตกลงว่าจะจ้างให้ทำงาน แต่ยังไม่มีการลงนามในสัญญา ผู้รับจ้างได้ลงมือทำงานที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปแต่ผู้ว่าจ้างได้บอกยกเลิกงาน ผู้รับจ้างนั้นจะเรียกค่าใช้จ่ายที่เสียไปนั้นได้หรือไม่
    บริษัทดิจิทัลไทยเทรด จำกัด เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าทางเทคโนโลยีรายใหญ่รายหนึ่ง ตามปกติในแต่ละปี บริษัทจะจัดงานแสดงสินค้าทางเทคโนโลยีที่ศูนย์แสดงสินค้าที่จะเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าทางเทคโนโลยีหรือสินค้าอื่นที่น่าสนใจมาร่วมตั้งร้าน โดยเสียค่าเช่าพื้นที่ให้บริษัท
    ในการจัดงานที่ผ่านมาหลายปี บริษัทดิจิทัลไทยเทรดได้ว่าจ้างให้บริษัทเกรทเอ็กซิบิท จำกัด เป็นออกาไนเซอร์ที่ช่วยจัดการงานแสดงสินค้าให้แทน โดยการจัดงานครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมาก็ดำเนินไปด้วยความราบรื่นดี จนกระทั่งในการจะจัดงานครั้งหลังสุด บริษัทดิจิทัลไทยเทรดได้เริ่มกระบวนการหาผู้รับจ้างจัดงานเหมือนทุกปีที่ผ่านมา จนกระทั่งได้คัดเลือกบริษัทเกรทเอ็กซิบิทให้เป็นผู้ดำเนินงานให้เช่นเดิม
    ทั้งสองบริษัทได้เจรจาเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดการทำงาน ตลอดจนค่าจ้างเป็นที่เรียบร้อย โดยตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 14 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการลงนามในหนังสือสัญญา ระหว่างนั้นบริษัทเกรทเอ็กซิบิทก็ได้เริ่มเตรียมการเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ตามที่ได้มีการประชุมวางแนวทางระหว่างทั้งสองบริษัทและแนวปฏิบัติในการดำเนินการว่าจ้างครั้งก่อน ๆ
    ต่อมาเกิดเหตุชุมนุมทางการเมือง บริษัทดิจิทัลไทยเทรดจึงได้แจ้งยกเลิกการจัดงาน โดยระบุเหตุผลว่าการจัดงานในสถานการณ์เช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท บริษัทเกรทเอ็กซิบิทได้เรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เสียไป ทั้งสองฝ่ายมีการเจรจากันโดยบริษัทเกรทเอ็กซิบิทยอมปรับลดเงินที่จะเรียกร้องลงจาก 1.8 ล้าน เหลือ 1.4 ล้าน แต่ไม่มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว บริษัทเกรทเอ็กซิบิทจึงได้มาฟ้องเรียกร้องเงินค่าใช้จ่าย
    ปัญหาประการแรกของเรื่องนี้คงเป็นการว่าจ้างที่แม้จะมีการคัดเลือกผู้รับจ้าง มีการพูดคุยเจรจาเงื่อนไขและรายละเอียดการทำงาน ตลอดจนค่าจ้างกันแล้ว แต่ยังไม่มีลงนามในสัญญาระหว่างทั้งสองฝ่ายจนกระทั่งมีการยกเลิกการจัดงานความผูกพันในทางกฎหมายระหว่างทั้งสองฝ่ายจะมีหรือไม่ และจะมีผลต่อความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เสียไปก่อนการยกเลิกการจัดงานอย่างไร
    กรณีนี้ถือว่าการว่าจ้างระหว่างทั้งสองบริษัทเป็นสัญญา “จ้างทำของ” ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสืออยู่แล้ว การที่ไม่ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญาจึงไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สัญญาระหว่างบริษัททั้งสองไม่ได้ทำตาม “แบบ” ที่กฎหมายกำหนดที่จะทำให้สัญญาไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
    กรณีของทั้งสองบริษัทคงมีปัญหาตรงที่หากดูเจตนาของทั้งสองฝ่ายก็คงประสงค์จะให้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา เพียงแต่ในครั้งนี้ยังไม่ได้มีการลงชื่อในสัญญา กรณีที่คู่สัญญาตกลงกันว่าจะทำสัญญากันเป็นหนังสือนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง กำหนดไว้ว่าหากกรณีเป็นที่สงสัย ให้นับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะทำสัญญานั้นเป็นหนังสือ
    แต่เมื่อดูพฤติการณ์ของกรณีนี้แล้วย่อมจะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างแสดงออกให้เห็นแล้วว่าได้ตกลงที่จะว่าจ้างกัน ความสงสัยว่ามีสัญญาต่อกันหรือไม่จึงไม่มีอยู่ เพราะเงื่อนไขและรายละเอียดการจ้างรวมถึงค่าจ้างก็ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว การปฏิบัติของทั้งสองหลังจากนั้นก็ทำเหมือนแนวทางที่เคยทำกันมาระหว่างทั้งสองบริษัทที่มีการเตรียมการจัดงาน มีการประชุมวางแนวทางร่วมกัน มีแม้กระทั่งการที่บริษัทดิจิทัลไทยเทรดยอมให้บริษัทเกรทเอ็กซิบิทมาใช้พื้นที่ภายในบริษัทตั้งเป็นศูนย์ประสานงานการจัดงานครั้งนี้ การดำเนินการที่เกิดเป็นค่าใช้จ่ายก็อยู่ในความรับรู้และเห็นชอบของผู้ว่าจ้าง จึงถือว่าเกิดสัญญาว่าจ้างที่มีความผูกพันระหว่างบริษัททั้งสองแล้ว
    ปัญหาอีกประการเป็นข้ออ้างที่บริษัทดิจิทัลไทยเทรดอ้างว่าการจัดงานต่อไปย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ทำนองที่การชำระหนี้ตามสัญญานี้ตกเป็นพ้นวิสัยไปด้วยเหตุที่เป็นการจัดงานท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมทางการเมืองที่คนคงจะไม่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากนัก
    แต่กรณีดังกล่าวคงไม่ใช่ข้ออ้างที่จะมาปฏิเสธความรับผิดได้ เพราะความจริงแล้วการจัดงานยังไม่ถึงกับพ้นวิสัยขนาดที่จะจัดไม่ได้ ผู้รับจ้างยังคงสามารถจัดงานได้อยู่ เพียงแต่ผลลัพธ์ของการจัดงานอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ผู้ว่าจ้างต้องการเท่านั้น ทำให้ไม่ถือว่าเป็นเหตุของการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัยที่จะมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้บริษัทดิจิทัลไทยเทรดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ผู้รับจ้างได้เสียไปในการเตรียมการ
    การว่าจ้างให้จัดงานที่เป็นการ “จ้างทำของ” เช่นนี้เป็นสัญญาที่ไม่ต้องทำเป็นหนังสือก็มีผลผูกพันคู่สัญญาได้ ดังนั้น หากมีการยกเลิกสัญญาโดยไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้รับจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างย่อมเกิดความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ผู้รับจ้างได้เสียไปแล้วเพราะการเตรียมการทำงานนั้น
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2563)

ความคิดเห็น • 7

  • @siamthabo
    @siamthabo ปีที่แล้ว +2

    ขอบคุณยิ่งสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางกฎหมาย ได้เบิกเนตรเลยก็ว่าได้

  • @user-cx5sj1hk3z
    @user-cx5sj1hk3z 2 ปีที่แล้ว +1

    ได้ความรู้มากมายค่ะ อยากให้นำเสนออย่าน้อยสัปดาห์ละ 3 เทป ครั้งค่ะ ท่านอธิบายฟังแล้วเข้าใจง่ายมากค่ะ

  • @chengthaworn
    @chengthaworn 2 ปีที่แล้ว +1

    เยี่ยมมากครับ
    ขอบคุณมากครับ สำหรับความรู้ดี ๆ ครับ

  • @user-np6zm3sr1p
    @user-np6zm3sr1p ปีที่แล้ว +1

    สวัสดีครับ จอขอบคุณการเผยแพร่ความรู้กฏหมายที่มีประโยชน์อย่างยิ่งครับ.

  • @user-yt7pl7pp7q
    @user-yt7pl7pp7q 2 ปีที่แล้ว

    ขอบคุณครับ

  • @pipattunjaroon2160
    @pipattunjaroon2160 2 ปีที่แล้ว

    เยี่ยมครับผม

  • @nawapopphoolme983
    @nawapopphoolme983 2 ปีที่แล้ว

    😀