ฎีกา InTrend EP.10 สัญญากู้ที่แปลงจากค่าวิ่งเต้น

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 17 มี.ค. 2021
  • ฎีกา Intrend ep.10 สัญญากู้ที่แปลงจากค่าวิ่งเต้น
    นายสรวิศ ลิมปรังษี
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ เจริญยศ
    Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร ศิลาบำเพ็ญ
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    สัญญากู้ยืมเงินหากเกิดจากการให้เงินหยิบยืมกันจริง ๆ คงไม่มีปัญหาอะไร แต่บางครั้งอาจมีกรณีที่มีหนี้สินบางอย่างค้างคาต่อกันแล้วเกิดปัญหาขึ้นมาจึงแปลงหนี้สินเหล่านั้นมาเป็นสัญญากู้ยืมเงิน ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าถ้าหนี้สินที่ค้างคากันนั้นเกิดจากการที่เดิมจ่ายเป็นค่าวิ่งเต้นให้เข้ารับราชการ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นสัญญากู้จะทำให้สัญญากู้นั้นมีผลบังคับได้มากน้อยเพียงใดซึ่งจะเป็นประเด็นที่จะนำมาเป็นหัวข้อในการพูดคุยในตอนนี้
    นายไก่ มีลูกชายอยู่หนึ่งคนชื่อนายกุ้ง เมื่อนายกุ้งสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี นายไก่ ต้องการจะให้ลูกชายของตนเองมีงานทำเป็นหลักเป็นฐาน เมื่อทราบว่าหน่วยราชการแห่งหนึ่งกำลังเปิดสอบบุคคลเข้ารับราชการ นายไก่จึงไปติดต่อกับนายเขียวที่อ้างว่าตนรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยราชการดังกล่าวและสามารถติดต่อช่วยให้นายกุ้งสอบผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุเข้ารับราชการที่หน่วยงานดังกล่าวได้ นายเขียวเรียกร้องเงินค่าดำเนินการที่ต้องไปติดต่อจำนวน 550,000 บาท นายไก่ นำเงินจำนวนดังกล่าวมาจ่ายให้แก่นายเขียวตามที่นายเขียวเรียกร้อง แต่เมื่อมีการประกาศผลสอบ ปรากฏว่านายกุ้งสอบไม่ผ่าน นายไก่จึงเรียกร้องเงินดังกล่าวคืนจากนายเขียว แต่นายเขียวอ้างว่าได้ใช้จ่ายเงินดังกล่าวไปแล้ว ไม่มีเงินจะคืนให้ หลังจากนายไก่พยายามทวงด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา นายเขียวจึงตกลงว่าจะคืนเงินให้แต่ขอเวลาหาเงินก่อน นายไก่ไม่เชื่อใจจึงให้นายเขียวลงชื่อในสัญญากู้ว่านายเขียวกู้เงินนายไก่ไปจำนวน 550,000 บาท และตกลงชำระคืนให้นายไก่พร้อมดอกเบี้ย โดยนายเขียวยอมมอบโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งของตนให้นายไก่ยึดถือไว้เป็นประกันด้วยเมื่อครบกำหนดตามสัญญากู้ นายเขียวไม่ได้นำเงินไปชำระ นายไก่จึงฟ้องนายเขียวเป็นคดีขอให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่ตน
    กรณีการทำสัญญากู้ยืมเงินกัน หากตอนที่ทำสัญญากู้ นายไก่มอบเงินจำนวน 550,000 บาท นั้น ให้นายเขียวไปแล้วเมื่อครบกำหนดนายเขียวไม่ชำระ นายไก่คงนำสัญญากู้ฉบับนั้นมาฟ้องเรียกร้องให้นายเขียวชำระเงินแก่ตนได้โดยชอบตามกฎหมาย เพราะเมื่อเป็นหนี้กันจริงและมีการทำสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะ สัญญานั้นก็ย่อมบังคับได้
    ปัญหาในกรณีนี้อยู่ตรงที่ว่าเดิมแม้นายไก่จะมอบเงิน 550,000 บาท ให้นายเขียวไปก็จริง แต่การให้เงินนั้นไปมีเจตนาเพื่อจะให้นายไก่ไปดำเนินการวิ่งเต้นกับผู้มีอำนาจในหน่วยราชการที่บุตรของตนกำลังจะสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ ไม่ได้เกิดจากการที่นายเขียวตั้งใจจะหยิบยืมเงินจากนายไก่ เพราะหากบุตรของนายไก่เกิดสอบผ่านและได้รับการบรรจุ นายไก่ก็คงจะไม่เรียกร้องเงินดังกล่าวคืน
    อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในลักษณะนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่าเจตนาของนายไก่ที่มอบเงินให้ไปนั้น นายไก่ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าการดำเนินการของนายเขียวคงจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อเป็นการสอบแข่งขัน วิธีการที่ถูกต้องจึงมีเพียงการสอบให้ได้คะแนนมากกว่าผู้เข้าสอบคนอื่นพอที่จะอยู่ในเกณฑ์ได้รับการบรรจุ การดำเนินการวิ่งเต้นอย่างใด ๆ ของนายเขียวจึงย่อมไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องโดยสภาพและมีลักษณะของการทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ เงิน 550,000 บาท นั้นจึงเป็นเงินที่จ่ายไปตามวัตถุประสงค์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังจะมีการแปลงหนี้ที่ต้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นมาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืม แต่เมื่อมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นมีที่มาจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว สัญญากู้ยืมนั้นจึงตกเป็นโมฆะเพราะถือว่าเป็นนิติกรรมที่ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” นายไก่จึงไม่มีสิทธิมาฟ้องบังคับให้นายเขียวชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืน
    ในส่วนของโฉนดที่ดินที่นายเขียวมอบให้ไว้แก่นายไก่เพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมนั้น เมื่อสัญญากู้ยืมดังกล่าวตกเป็นโมฆะไปเสียแล้ว นายไก่ย่อมไม่มีหนี้ที่จะอ้างเพื่อยึดถือโฉนดที่ดินนั้นไว้เป็นประกันอีก นอกจากนายไก่จะเรียกเงินคืนไม่ได้แล้วยังต้องคืนโฉนดให้แก่นายเขียวด้วย
    หนี้ที่จะฟ้องร้องกันนั้น หากเป็นหนี้กันจริงและเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยถูกต้องชอบธรรมปกติก็ย่อมบังคับกันได้ แต่หากเป็นหนี้ที่มีมูลหนี้มาจากการกระทำที่มิชอบอย่างเช่นการวิ่งเต้นเพื่อให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบก็อาจจะทำให้นิติกรรมสัญญาที่แปลงมาจากการกระทำที่มิชอบอย่างสัญญากู้ตกเป็นโมฆะและไม่สามารถฟ้องร้องบังคับตามสัญญานั้นได้อย่างเช่นในกรณีนี้
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6023/2561)

ความคิดเห็น •