ฎีกา InTrend EP.53 ยักยอกเงินที่โอนทางอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องร้องทุกข์ ณ ท้องที่ใด

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 18 ม.ค. 2022
  • The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : อัครพันธ์ สัปปพันธ์, อรวรานันท์ ธนาพันธ์วรากุล
    Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, ทศพร ศิลาบำเพ็ญ
    ทุกวันนี้การทำธุรกรรมเบิกถอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นวิธีการที่แพร่หลาย เพราะด้วยความสะดวกที่สามารถทำที่ใดและเมื่อใดก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันปัญหาทางกฎหมายและการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมในลักษณะนี้ก็ทำให้ต้องคิดกันเช่นกันว่าจะพิจารณาและมองอย่างไรกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในกรณีเช่นนี้ ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่มีการโอนเงินด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วมีการยักยอกเงินดังกล่าว จะถือว่าความผิดเกิดและจะแจ้งความร้องทุกข์ได้ในท้องที่ใด
    นายไก่ต้องการขายรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบของตนที่อยู่ในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้มอบหมายให้นายเสือช่วยหาคนซื้อรถดังกล่าวให้ในราคา 680,000 บาท ตามที่นายไก่ได้ประกาศขายไว้บนเว็บไซต์
    ต่อมานายเสือได้ชักชวนให้นายกวางซื้อรถแทรกเตอร์คันดังกล่าวจนนายกวางตกลงซื้อในราคา 680,000 บาท แต่นายเสือได้บอกนายไก่ว่าตนสามารถเจรจาให้นายกวางซื้อได้เพียงในราคา 600,000 บาท ทำให้นายไก่ยอมตกลงให้ขายในราคาดังกล่าว
    นายกวางได้ทำการโอนเงินให้แก่นายเสือโดยใช้ระบบธนาคารออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่โอนเงินเข้าบัญชีนายเสือที่ธนาคารซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานี โดยโอนให้จำนวน 500,000 บาท และส่วนที่เหลือโอนโดยการทำรายการผ่านตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติของธนาคาร การดำเนินการโอนเงินทั้งหมดทำขึ้นขณะที่นายกวางอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
    หลังจากนั้นในวันเดียวกับที่ได้รับเงิน นายเสือได้โอนเงินเข้าบัญชีของนายไก่ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่และการทำรายการผ่านตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติในขณะที่นายเสืออยู่ที่เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
    ต่อมานายไก่ทราบความจริงว่านายกวางตกลงซื้อรถแทรกเตอร์ในราคา 680,000 บาท ไม่ใช่ 600,000 บาทตามที่นายเสือบอก นายไก่จึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จนต่อมาพนักงานอัยการฟ้องนายเสือต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีในข้อหายักยอกทรัพย์
    นายเสือต่อสู้ว่าการสอบสวนไม่ชอบ เพราะเหตุในคดีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเขตท่าม่วง พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น
    ตามปกติ เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจในเขตท้องที่ที่ความผิดนั้นเกิดจะมีอำนาจสอบสวนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี การกระทำความผิดอาจเกิดขึ้นในหลายท้องที่ หรือการกระทำความผิดนั้นอาจแบ่งออกเป็นหลายส่วน และแต่ละส่วนของการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นคนละท้องที่กัน กรณีเหล่านี้พนักงานสอบสวนในท้องที่ดังกล่าวย่อมมีอำนาจที่จะสอบสวนได้
    กรณีที่ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ หากมีพนักงานสอบสวนที่อาจมีอำนาจสอบสวนได้หลายท้องที่ พนักงานสอบสวนที่ “พบการกระทำความผิดก่อน” จะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวนกรณีนั้น ซึ่งตามปกติอาจได้แก่พนักงานสอบสวนที่ได้รับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
    การกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิด “เบียดบัง” เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปเป็นของตน ตามปกติอาจจะปรากฏจากพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่เอาทรัพย์นั้นไปทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้สิทธิของเจ้าของทรัพย์เสียไปและแสดงราวกับว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นเอง
    ปัญหาของกรณีนี้เกิดจากพฤติกรรมที่การโอนเงินให้แก่นายเสือทำผ่านระบบธนาคารออนไลน์และนายเสือโอนเงินให้นายไก่เพียงบางส่วน สำหรับเงินส่วนที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกจำนวน 80,000 บาท ก็ยังคงอยู่ในบัญชีธนาคารของนายเสือ
    ข้อสังเกตของเรื่องนี้คงเป็นการกระทำของนายเสือที่ความจริงตนเองตกลงขายรถแทรกเตอร์ให้นายกวางในราคา 680,000 บาท แต่กลับไปบอกนายไก่ว่าขายในราคา 600,000 บาท เท่ากับว่านายเสือต้องการจะฮุบเงินส่วนต่าง 80,000 บาท ไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งอาจจะต่างจากการยักยอกกรณือื่น ๆ ที่มักมีการส่งมอบทรัพย์มาก่อนแล้วแสดงเจตนาทำนองที่จะฮุบนี้ภายหลัง
    ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อนายกวางโอนเงินไปให้นายเสือในขณะที่นายกวางอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงเป็นการทำให้เงินที่นายเสือต้องการฮุบไปอยู่ในความครอบครองของนายเสือและทำให้นายเสือสามารถเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไว้ได้ เพราะด้วยการโอนเงินในลักษณะดังกล่าวเมื่อเงินเข้าบัญชีแล้ว นายเสือย่อมจะเบิกถอนหรือทำอย่างไรกับเงินได้ทันที เห็นได้จากกรณีนี้นายเสือเองก็โอนเงินหกแสนบาทไปให้นายไก่ในวันเดียวกันนั้น จึงทำให้พอถือได้ว่าการกระทำการยักยอกนี้มีส่วนหนึ่งของการกระทำเกิดที่อำเภอท่าม่วง ทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่อำเภอท่าม่วงมีอำนาจสอบสวนได้
    เมื่อมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าม่วงก็ทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าม่วงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบด้วย
    แต่นอกเหนือจากนั้น กรณีนี้อาจถือได้ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในเขตปทุมธานีที่นายเสือมีบัญชีธนาคารอยู่ และเขตกรุงเทพมหานครที่นายเสือทำการโอนเงินส่วนหนึ่งให้แก่นายไก่แล้วเบียดบังเองส่วนที่เหลือไว้ด้วย
    การกระทำการยักยอกเงินที่โอนผ่านระบบธนาคารออนไลน์นี้อาจมีความคาบเกี่ยวกับท้องที่หลายแห่งที่ทำให้พนักงานสอบสวนหลายท้องที่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่กรณีเช่นนี้ซึ่งมีการแสดงเจตนาที่จะเบียดบังเอาเงินไว้แต่ต้น ท้องที่ที่มีการโอนเงินไปจึงถือเป็นท้องที่ที่มีการกระทำความผิดส่วนหนึ่งเกิดขึ้น ผู้เสียหายจึงอาจร้องทุกข์ในท้องที่นั้นได้
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5593/2562)

ความคิดเห็น • 6

  • @thammasornpathummas5884
    @thammasornpathummas5884 2 ปีที่แล้ว

    ขอบคุณครับท่านอาจารย์

  • @lutfeeslam4649
    @lutfeeslam4649 ปีที่แล้ว

    ❤❤❤❤❤

  • @Roberttingnongnoi841
    @Roberttingnongnoi841 2 ปีที่แล้ว

    ถ้านายกวางโอนเงินจากจังหวัดอยุธยาล่ะ
    ยังจะถือว่าความผิดส่วนหนึ่งเกิดในอำเภอท่าม่วงหรือไม่ครับ?

  • @touristsm8097
    @touristsm8097 2 ปีที่แล้ว

    กรณีโอนเงินผิดบัญชีนั้น
    ต้นทางหรือปลายทางเป็นที่เกิดเหตุ ครับ หรือมองว่าต่อเนื่อง???

    • @peeraphondaungmanee2013
      @peeraphondaungmanee2013 ปีที่แล้ว

      ผมมองว่าดูสุถานที่โอนเงินหรือถอนเงินเพื่อยักยอกเป็นหลักครับ ถ้าโอนหรือถอนที่ใดที่นั้นเป็นสถานที่กระทำความผิดครับ ถ้าโอนผิดแล้วเค้าไม่โอนต่อแล้วคืนก็ไม่เกิดคดีครับ จะเป็นคดีเมื่อคนที่รับโอนเงินผิดนั้นโอนต่อหรือถอนครับก็สถานที่นั้นครับผม

  • @peeraphondaungmanee2013
    @peeraphondaungmanee2013 ปีที่แล้ว

    ขอบคุณครับ