มหัศจรรย์แห่งศูนย์ฯ ภูพานฯ ตอน หมูภูพาน

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 10 มิ.ย. 2019
  • "หมูภูพาน" สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน สัตว์เศรษฐกิจสุดเลื่องชื่อของสกลนคร ยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย
    ด้วยต้องการบรรเทาความทุกข์ของประชาชน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงานของพระองค์ในภาคอีสาน พร้อมโปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นสถานที่ทดลองแนวพระราชดำริต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตร เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ในในฤดูแล้ง การหาข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และอีกโครงการหนึ่งซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ คือ การเลี้ยงสัตว์
    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวทางง่าย ๆ ว่า ต้องแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่ายไม่ต้องลงทุนสูง ไม่เช่นนั้นหากมีอะไรผิดพลาด เกษตรกรจะกลายเป็นหนี้ จนเป็นที่มาของตำนาน 3 ดำมหัศจรรย์แห่งภูพาน อันประกอบด้วย ไก่ดำภูพาน, สุกรภูพาน และโคเนื้อภูพาน ดังที่หลาย ๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วนั้น แต่ปัจจุบันนอกเหนือจาก 3 ดำมหัศจรรย์ที่กล่าวไปข้างต้น ทางศูนย์ฯ ได้มีการทดลองเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์เพื่อการบริโภคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 3 ชนิด ได้แก่ "กระต่ายดำภูพาน" กระต่ายเพื่อการบริโภคที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากกระต่ายในจังหวัดสกลนคร ร่วมกับกระต่ายอีกหลากหลายสายพันธุ์ "กระบือเมซานี" กระบือผลิตน้ำนมสายพันธุ์พระราชทานที่รัฐบาลอินเดียทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ "กวางรูซ่า" สัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สามารถนำเขากวางอ่อนมาสกัดผลิตเป็นยามากสรรพคุณ
    ซึ่งจุดกำเนิดของ 6 สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น อาทิตย์นี้ขอเชิญทุกท่านติดตามรับชมวิดิทัศน์สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน ตอน หมูภูพาน กันได้เลยครับ
    หมูภูพานหรือสุกรภูพาน ถูกพัฒนาขึ้นจากสุกรพันธุ์ "เหมยซาน" ซึ่งเป็นพันธุ์พระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้รับการน้อมเกล้าถวายจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยงานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำการพัฒนาสุกรสายพันธุ์เหมยซาน เพื่อคงลักษณะเด่นและกลบลักษณะด้อย ตามความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงและสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของเกษตรกรรายย่อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสำคัญ โดยมีการนำสุกรพันธุ์เหมยซานไปผสมพันธุ์พันธุ์กับสุกรพันธุ์พื้นเมืองสกลนคร และผสมพันธุ์ข้ามกับสุกรสายพันธุ์ยุโรปจนได้สุกรสายพันธุ์ใหม่ชื่อ "สุกรภูพาน" ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นเรื่องการให้ลูกดก 14 - 16 ตัวต่อครอก กินอาหารได้ทุกประเภท เลี้ยงปล่อยได้ ปรับตัวกับสภาพอากาศได้ดี ทนทานต่อโรคระบาด ให้เนื้อแดงมาก สามารถนำไปเลี้ยงเพื่อผลิตลูกหมูจำหน่ายหรือนำไปเลี้ยงขุนได้ ปัจจุบันสุกรภูพาน มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่
    • สายพันธุ์ภูพาน 1 มีสีดำ เลี้ยงง่าย โตเร็ว เหมาะในการปล่อยเลี้ยงหรือเลี้ยงในระบบหมูหลุม
    • สายพันธุ์ภูพาน 2 มีสีขาว เลี้ยงง่าย โตเร็ว เหมาะที่จะนำไปเลี้ยงในระบบคอกหลังบ้านหรือขุนจำหน่าย
    เนื่องจากสุกรภูพาน ได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะสมกับระบบการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ จึงเหมาะสำหรับเลี้ยงปล่อยหรือขังคอกกินเศษอาหารหรือเศษผักผลไม้ที่เหลือจากการทำเกษตรกรรมอื่น ๆ เพื่อเป็นเสมือนคลังออมสินเปลี่ยนของเหลือที่ไม่มีประโยชน์ให้เป็นเนื้อสุกรที่มีคุณภาพเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของครัวเรือนหรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมของครอบครัวและเหมาะที่จะนำไปเลี้ยงในระบบเกษตรธรรมชาติเพื่อผลิต “เนื้อสุกรอินทรีย์” จำหน่ายในตลาดผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพในปัจจุบันซึ่งจากแนวโน้มการบริโภคเนื้อสุกรในปัจจุบัน ที่นิยมการบริโภคเนื้อสุกรที่มีความนุ่มพิเศษจากสุกรพันธุ์สีดำ ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “คุโรโบตะ” จึงทำให้สุกรพันธุ์ภูพาน1 ซึ่งมีสีดำ กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในการผลิตเนื้อสุกร “ไทยคุโรโบตะ” เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างกำไรให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้มากขึ้นด้วย
    ผู้ที่สนใจสายพันธุ์หมูดำภูพาน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0-4274-7458 ต่อ 602 งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์

ความคิดเห็น •