มหัศจรรย์แห่งศูนย์ฯ ภูพานฯ ตอน ไก่ดำภูพาน

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 10 มิ.ย. 2019
  • "ไก่ดำภูพาน" สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน สัตว์เศรษฐกิจสุดเลื่องชื่อของสกลนคร ยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย
    ด้วยต้องการบรรเทาความทุกข์ของประชาชน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงานของพระองค์ในภาคอีสาน พร้อมโปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นสถานที่ทดลองแนวพระราชดำริต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตร เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ในในฤดูแล้ง การหาข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และอีกโครงการหนึ่งซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ คือ การเลี้ยงสัตว์
    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวทางง่าย ๆ ว่า ต้องแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่ายไม่ต้องลงทุนสูง ไม่เช่นนั้นหากมีอะไรผิดพลาด เกษตรกรจะกลายเป็นหนี้ จนเป็นที่มาของตำนาน 3 ดำมหัศจรรย์แห่งภูพาน อันประกอบด้วย ไก่ดำภูพาน, สุกรภูพาน และโคเนื้อภูพาน ดังที่หลาย ๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วนั้น แต่ปัจจุบันนอกเหนือจาก 3 ดำมหัศจรรย์ที่กล่าวไปข้างต้น ทางศูนย์ฯ ได้มีการทดลองเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์เพื่อการบริโภคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 3 ชนิด ได้แก่ "กระต่ายดำภูพาน" กระต่ายเพื่อการบริโภคที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากกระต่ายในจังหวัดสกลนคร ร่วมกับกระต่ายอีกหลากหลายสายพันธุ์ "กระบือเมซานี" กระบือผลิตน้ำนมสายพันธุ์พระราชทานที่รัฐบาลอินเดียทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ "กวางรูซ่า" สัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สามารถนำเขากวางอ่อนมาสกัดผลิตเป็นยามากสรรพคุณ
    ซึ่งจุดกำเนิดของ 6 สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น อาทิตย์นี้ขอเชิญทุกท่านติดตามรับชมวิดิทัศน์สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน ตอน ไก่ดำภูพาน กันได้เลยครับ
    ไก่ดำภูพาน ถูกพัฒนาขึ้นมาจากไก่กระดูกดำที่โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เคยทำการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสกลนครเลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นเวลามากกว่า 25 ปี ซึ่งไก่ดำส่วนใหญ่ได้ถูกผสมพันธุ์ข้ามไปกับไก่พื้นเมืองของจังหวัดสกลนคร จนทำให้ไม่เหลือลักษณะของไก่กระดูกดำที่ชัดเจนแล้ว งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ดำที่มีกระดูกดำและเนื้อดำขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีลักษณะจำเพาะที่กลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการ แต่ยังให้คงคุณสมบัติความโดดเด่นด้านความทนทานต่อโรคระบาดและเป็นไก่กระดูกดำที่เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่าย เหมือนไก่พื้นเมือง
    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ดำภูพานจนประสบความสำเร็จได้ไก่กระดูกดำที่มีความโดดเด่นประจำตัว และอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่มีประโยชน์ต่อร่างกายผู้บริโภค โดยพบว่ามีสารสีดำ “เมลานิน” จำนวนมากในไก่ดำภูพาน ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารเมลานิน เป็นสารต้านอนุมูนอิสระตัวหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติในการชะลอความชราของเซลล์และออกฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็ง จึงทำให้ผู้ที่บริโภคไก่ดำได้รับสารอาหารที่มากกว่าไก่ทั่วไป และจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เหมาะสำหรับบำรุงร่างกายหญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับหลัก “โภชนะศาสตร์บำบัด” คือการกินเพื่อการป้องกันและรักษาโรค
    จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ไก่ดำภูพาน เป็นไก่กระดูกดำที่ได้รับความนิยมของประชาชนและเกษตรกรในการนำไปเลี้ยงเพื่อบริโภคและเพื่อจำหน่าย โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมามีเกษตรกรจากทั่วประเทศให้ความสนใจเดินทางมาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เพื่อขอรับการสนับสนุนพันธุ์ไก่ดำภูพาน นำไปเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันได้ไก่ดำภูพานได้ถูกพัฒนาต่อยอดภายใต้โครงการพระราชดำริจนประสบความสำเร็จในการสร้างไก่ดำภูพานได้แล้ว 3 สายพันธุ์ ได้แก่
    • ไก่ดำภูพาน 1: ลักษณะขนสีดำ หนังดำ แข้งดำ จงอยปากดำ เนื้อและกระดูกดำ
    • ไก่ดำภูพาน 2: ลักษณะขนสีขาว หนังดำ แข้งดำ จงอยปากเทาดำ เนื้อและกระดูกดำ
    • ไก่ดำภูพาน 3: ลักษณะขนสีเหลืองทอง หนังดำ แข้งดำ จงอยปากเทาดำ เนื้อและกระดูกดำ
    เนื่องจากไก่ดำภูพาน ถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นจากไก่ดำลูกผสมกับไก่พื้นเมืองของจังหวัดสกลนคร จึงทำให้ไก่ดำภูพานมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าไก่ดำสายพันธุ์อื่น ที่นำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย และมีการปรับตัวเข้ากับสภาพการเลี้ยง การจัดการของเกษตรกรที่มีฐานะยากจนได้เป็นอย่างดี เป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ปล่อยให้หากินอิสระได้ หากินเก่ง ฟักไข่และเลี้ยงลูกได้เอง เนื้อแน่น รสชาติอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงทำให้มีผู้สนใจนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเกษตรกรนำไปเลี้ยงไว้ในครอบครัว สามารถเลี้ยงไว้เพื่อการบริโภค เป็นแหล่งอาหารโปรตีนภายในครัวเรือนและสามารถจำหน่ายสร้างรายได้พอสมควรให้เกษตรกรผู้เลี้ยงและเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาชีพภายใต้ผลงานที่โดดเด่นของโครงการพระราชดำริภายใต้แนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
    ผู้ที่สนใจสายพันธุ์ไก่ดำภูพาน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0-4274-7458 ต่อ 602 งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์

ความคิดเห็น •