วิธีการทำข้าวหลาม

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 18 มิ.ย. 2022
  • #ข้าวหลาม #การเผาข้าวหลาม เป็นภูมิปัญญาในการทำอาหารและถนอมอาหารในลักษณะการเผาหรือหลาม คือการนำข้าวสารหรือข้าวเหนียวใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปเผาให้ข้าวสุก เรียกว่าข้าวหลาม นิยมใช้วัตถุดิบธรรมชาติ มีการพัฒนาการหุงข้าวหลามเหนียวให้เป็นอาหารหวานที่ปรุงรสด้วยน้ำกะทิ น้ำตาล เกลือ มีรสชาติ มัน หวานเค็ม แล้วปิดปากกระบอกไม้ไผ่ด้วยกาบมะพร้าว ใบตองสด ใบตองแห้ง ใบเตย แล้วเผาด้วยไม้ฝืนหรือถ่านให้ข้าวหลามสุกแล้วมีกลิ่นหอม
    วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำข้าวหลาม
    1.กระบอกไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-8 เซนติเมตร ลำปล้องยาว 30 เซนติเมตร
    2. ใบตองแห้ง ขนาด กว้าง 20 เซ็นติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร จำนวน 40 แผ่น สำหรับใช้ทำจุกปิดกระบอกข้าวหลาม
    3. เชื้อเพลิงที่ใช้เผาข้าวหลามประกอบด้วยเปลือกไม้ ฟืน หรือถ่าน
    ส่วนผสมของข้าวหลาม
    1. ข้าวเหนียว 1,000 กรัม
    2. หัวกะทิสด 1,000 กรัม
    3. น้ำตาลทราย 350 กรัม
    4. เกลือ 18 กรัม
    5. ถั่วดำ 100 กรัม
    วิธีทำข้าวหลาม
    1.ตัดไม้ไผ่ขนาด 30 เซนติเมตร โดยส่วนที่จะนำมาใส่ข้าวมีความยาว 20 เซนติเมตร ส่วนด้านล่างจะมีความยาว 10 เซนติเมตร แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาดแต่ห้ามถูหรือขัดด้านในกระบอกไม้ไผ่เพราะจะทำให้เยื่อไม้ไผ่ฉีกขาด
    2.นำถั่วดำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่น้ำประมาณ 8 ชั่วโมง
    3.นำข้าวเหนียวมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่น้ำประมาณ 6-8 ชั่วโมง
    4.นำถั่วดำที่แช่น้ำครบ 8 ชั่วโมง มาต้มด้วยไฟระดับกลาง ตั้งเวลาประมาณ 40 นาที
    5.ขณะต้มถั่วดำ นำข้าวเหนียวที่แช่ครบ 6-8 ชั่วโมง มากรองน้ำทิ้ง แล้วซาวน้ำอีก 1-2 ครั้งแล้วกรองใส่กระชอนให้สะเด็ดน้ำ
    6.เมื่อต้มถั่วดำเสร็จแล้ว พักไว้ 15 นาที กรองน้ำทิ้ง แล้วล้างถั่วดำให้สะอาด
    7.นำข้าวเหนียวที่ผ่านซาวน้ำแล้วมาเทใส่ภาชนะ รวมกับถั่วดำต้มสุก แล้วคลุกให้เข้ากัน
    8.นำกะทิ น้ำตาลทราย เกลือ ผสมกัน และคนให้น้ำตาลละลายจนหมด
    9.ตักข้าวเหนียวที่ผสมถั่วดำแล้ว กรอกใส่กระบอกไม้ไผ่ ให้เหลือปลายกระบอกประมาณ 8 เซนติเมตร (จะได้ประมาณ 20 กระบอกต่อข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม)
    10.กรอกน้ำกะทิที่ผสมแล้ว ให้สูงเหนือข้าวเหนียวประมาณ 2.5 เซนติเมตร พักไว้ประมาณ 30 นาที
    11.นำใบตองแห้งสะอาด มาพับให้เป็นจุก แล้วยัดปิดใส่กระบอกไม้ไผ่
    12.เมื่อเตรียมข้าวหลามเสร็จ ให้นำไปเผาไฟด้วยฟืนหรือถ่าน ประมาณ 3 ชั่วโมง
    13.เมื่อข้าวหลามสุกแล้วให้นำมาเช็ดหรือล้างกระบอกด้านนอกที่เปื้อนคาบกะทิและฝุ่นขี้เถ้าให้สะอาด ทิ้งไว้ให้อุ่น แล้วใช้มีดปอกข้าวหลามให้เยื่อไผ่ติดหุ้มข้าวเหนียวพร้อมรับประทาน
    ข้อคำนึงในการเผาข้าวหลาม
    วิธีทำข้าวหลามนั้นไม่ได้มีขั้นตอนการทำที่สลับซับซ้อนแต่ควรใส่ใจ พิถีพิถันปราณีตในทุกขั้นตอนในการทำข้าวหลามเพื่อให้ข้าวข้าวหลามนั้นอร่อย ดังนั้น การเลือกต้นไผ่ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกและมีอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย ต้นไผ่ที่นิยมมาหุงข้าวหลามคือ ไผ่ข้าวหลาม หรือไม้ป้าง ซึ่งลำต้นลักษณะตรง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-8 เซนติเมตร เนื้อลำบาง ลำปล้องยาว 30-60 เซนติเมตร มีหลายขนาด ไม้ไผ่ที่เหมาะนำมาทำข้าวหลามลำไม้ไผ่อายุประมาณ 6-10 เดือน คุณสมบัติพิเศษของไผ่ข้าวหลามคือเยื่อไผ่จะร่อนออกดีมาก ง่ายต่อการปอกออกจากลำไผ่และคงความหอมของกลิ่นไม้ไผ่ที่ตัดเป็นรูปทรงกระบอกแล้ว ส่วนไผ่ป่า และไผ่สีสุก หรือไผ่ชนิดอื่นๆ ถึงแม้จะใช้ได้ แต่เมื่อนำมาหุงข้าวหลามพบว่าเยื่อไผ่มีน้อยจะไม่ค่อยร่อนจึงไม่เป็นที่นิยม
    ข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำควรเป็นข้าวเหนียวชนิดดีเมล็ดข้าวยาว เมื่อเผาสุกแล้วจะมีความหวานอ่อนนุ่ม เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ตราหมีรวงข้าว ตราไร่ทิพย์
    กะทิข้าวหลามควรคั้นหัวกะทิสด น้ำกะทิต้องมันจะทำให้ข้าวหลามมีความมันและหอมกะสิสด
    ใช้น้ำตาลทรายขาว เกลือเสริมไอโอดีน ตามสูตรที่กำหนด โดยปรุงให้ได้รสชาติ มัน หวาน เค็ม พอดี ข้าวหลามจะอร่อยมากน้อยอยู่ที่สัดส่วนของเครื่องปรุงของแต่ละผู้ปรุง
    ถั่วดำชนิดดีเมล็ดใหญ่ ต้มให้สุกอ่อนนุ่มพักไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างกรองน้ำทิ้งก่อนนำถั่วดำผสมกับข้าวเหนียว คนให้เข้ากันแล้วตักกรอกใส่ในกระบอกไม้ไผ่ประมาณ 4-5 ช้อนโต๊ะ ไม่ควรกดข้าวเหนียวหรือกระแทกกระบอกไม้ไผ่เพราะจะทำให้ข้าวแน่นมากเกินไปเมื่อนำไปเผา ข้าวเหนียวและกะทิจะเดือดและเมล็ดข้าวเหนียวขยายพองขึ้นทำให้ล้นเกินกระบอกไม้ไผ่
    ในการเทน้ำกะทิใส่ลงในกระบอก ให้น้ำกะทิท่วมข้าวเหนียวเล็กน้อยปริมาณเท่ากับการหุ้งข้าวสารปกติ ถ้าใส่น้ำกะทิมากเกินไปข้าวจะแฉะ ถ้ากะทิน้อยไปข้าวจะแข็งไม่นุ่ม เมื่อกรอกกะทิเสร็จแล้วให้วางพักไว้พอให้ข้าวเหนียวอิ่มน้ำกะทิ แล้วปิดปากกระบอกไม้ไผ่ด้วยใบตองแห้งพับให้พอดีกับปากกระบอกคล้ายจุก สะดวกในการเปิดปิดปากกระบอกเพื่อไม่ให้แมลง เศษฝุ่นหรือสิ่งสกปรกเข้าไปในกระบอก
    เมื่อเตรียมข้าวหลามเสร็จ ให้ขุดหลุมลึกประมาณ 5-8 เซนติเมตร เป็นแนวยาว นำกระบอกข้าวหลามมาวางเรียงกันโดยไม่ให้ชนกัน แล้วเกลี่ยดินกลบกระบอกไม้ไผ่ไม่ให้ล้ม ก่อนเผาจะจุดไฟให้ลุกนานประมาณ 40 นาที เพื่อให้ฟืนหรือถ่านคุทั่วกันแล้วค่อยๆ เกลี่ยดันถ่านเข้าหากระบอกข้าวหลาม ใช้เวลาเผาข้าวหลามประมาณ 3 ชั่วโมง สังเกตกระบอกข้าวหลามถ้ามีสีเหลืองทั่วแสดงว่าข้าวหลามสุก
    ขั้นตอนการเผาข้าวหลามนั้นเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความใส่ใจมากในเรื่องของการสังเกตไฟ ควรควบคุมไฟให้มีความร้อนระดับปานกลาง ถ้าไฟแรงไปจะทำให้น้ำกระทิเดือดจนล้นออกจากกระบอกไม้ไผ่ และทำให้ข้าวหลามไหม้ แต่ถ้าไฟหรือเปลวไฟไม่ทั่วถึงกระบอกข้าวหลามจะทำให้ข้าวเหนียวดิบ เราต้องคอยสังเกตอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะเผาข้าวหลามเสร็จ ดังนั้นขั้นตอนการเผาข้าวหลามนั้นต้องมีความอดทนมากเพราะต้องอยู่กับความร้อน ใจต้องสู้จริง กายต้องพร้อมที่จะทำ ถึงจะได้ข้าวหลามที่อร่อย มันหวานเค็มในแบบที่คุณต้องการ
    #คหกรรมสวนดุสิตสุพรรณบุรี
    #มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
    #TikTok / hec_sdu_suphanburi
    #Instagram home_econom...
    #youtube / @hec_sdu_suphanburi

ความคิดเห็น • 3

  • @user-gm1ld8ov3d
    @user-gm1ld8ov3d 6 หลายเดือนก่อน

    ขอบคุณความรุัคะ

  • @bunrueanwindeck5243
    @bunrueanwindeck5243 ปีที่แล้ว +1

    ขอบคุณค่ะ ต้องทำบ้างแล้วค่ะ

  • @ranyachoi5227
    @ranyachoi5227 ปีที่แล้ว +1

    สอนวิธีการใส่ไส้สังขยาไข่ตรงกลางกระบอกหน่อยได้มั้ยคะ อยากรู้เขามีวิธีการใส่ไส้กันอย่างไร