ฎีกา InTrend Ep.185 โฆษณารับรองว่าทำศัลยกรรมแล้วไม่บวมไม่เป็นแผลเป็นจะมีผลผูกพันให้ต้องรับผิดหรือไม่

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 21 ก.ย. 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.185 โฆษณารับรองว่าทำศัลยกรรมแล้วไม่บวมไม่เป็นแผลเป็นจะมีผลผูกพันให้ต้องรับผิดหรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, ทัสสญุชุ์ กุลสิทธิ์ชัยญา, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    การให้บริการ หรือแม้กระทั่งการขายสินค้าต่าง ๆ โดยสภาพผู้ขายหรือผู้ให้บริการมักจะโฆษณา หรือทำการตลาดเพื่อจูงใจให้ลูกค้า หรือผู้สนใจเป็นลูกค้ารู้สึกสนใจ ชอบ และตัดสินซื้อสินค้าหรือบริการนั้น แต่สิ่งต่าง ๆ ที่บอกกับลูกค้าเหล่านี้อาจมีผลผูกพันให้ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่บอกเพื่อชักจูงลูกค้าให้มาซื้อหาสินค้าหรือบริการได้ ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่โฆษณารับรองว่าทำศัลยกรรมเสริมความงามแล้วจะไม่บวมไม่เป็นแผลเป็นแล้วจะมีผลผูกพันให้ต้องรับผิดหรือไม่
    นาย ก. ได้จัดทำโครงการเสริมความงามขึ้นโครงการหนึ่งสมมติว่าชื่อ “โครงการสวยทันใด” โดยมีลักษณะเป็นการจัดให้มีการทำศัลยกรรมเพื่อเสริมความงาม โครงการจะจัดให้คำปรึกษา จัดหาแพทย์และโรงพยาบาลเพื่อทำศัลยกรรมให้ตามความเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย
    นาย ก. ได้จัดทำสื่อโฆษณาหลายอย่าง เช่น คลิปวิดีโอเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในสื่อเผยแพร่ที่นาย ก. จัดทำขึ้นมีการระบุด้วยว่า “การศัลยกรรมผ่าตัดเสริมความงามโดยมีโรงพยาบาลชั้นนำได้มาตรฐานระดับโลกร่วมโครงการด้วย การผ่าตัดจะไม่มีผลกระทบ ไม่บวม ไม่เจ็บ ฟื้นตัวเร็ว ไร้รอยแผลเป็น” แต่ทั้งนี้ “ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล”
    นางจันทร์ได้เห็นสื่อโฆษณาดังกล่าวจึงได้ติดต่อไปยังนาย ก. และตกลงที่จะทำศัลยกรรมเสริมความงามกับโครงการดังกล่าว นาย ก. ได้ติดต่อให้นางจันทร์ไปทำศัลยกรรมกับโรงพยาบาล ข. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการเสริมความงาม
    ภายหลังการผ่าตัดเสริมความงาม ปรากฏว่านางจันทร์มีอาการ “หน้าบวมมาก มีรอยเขียวฟกช้ำ ปลายจมูกอักเสบ บวมแดง ขมับสองข้างมีอาการชา หางตาทั้งสองข้างตึง แก้มสองข้างไม่เท่ากัน ใบหน้าคล้อย มุมปากตก เหนียงคอห้อย มีแผลเป็นน่าเกลียดที่ใบหน้าและที่ตา”
    นางจันทร์จึงได้มาฟ้องนาย ก. และโรงพยาบาล ข. ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ปัญหาประการสำคัญในกรณีนี้คงอยู่ที่ว่านาย ก. และโรงพยาบาล ข. จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีนี้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการผ่าตัดเสริมความงามไม่ปรากฏว่ามีการผ่าตัดที่ผิดพลาด หรือแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดกระทำการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพอย่างที่ควรจะเป็น เพียงแต่ผลที่เกิดขึ้นกับนางจันทร์ก็ยังเกิดขึ้นอยู่
    ข้อสำคัญอยู่ที่การที่นาย ก. ไปโฆษณาและรับรองต่าง ๆ นานาในสื่อต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนที่ได้พบเห็นสื่อโฆษณาเหล่านั้นเข้าใจได้ตามที่ข้อความในสื่อต้องการจะบอกคือหากมาทำศัลยกรรมเสริมความงามกับโครงการของนาย ก. แล้วจะไม่เกิดผลต่าง ๆ ตามที่ระบุ โดยเฉพาะที่บอกว่าไม่บวม ไม่เจ็บ และไม่เกิดรอยแผลเป็น
    ในกรณีของการโฆษณาหรือรับรองต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ทำเพื่อจูงใจผู้บริโภคนี้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 ได้กำหนดไว้ว่า บรรดาประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจด้วย
    ทำให้คำโฆษณา คำรับรองและข้อความต่าง ๆ ที่นาย ก. ได้ทำเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ ว่า หากมาทำศัลยกรรมความงามในโครงการของนาย ก. แล้วจะไม่บวม ไม่เจ็บ และไม่เกิดรอยแผลเป็น เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่มีผลผูกพันด้วย เมื่อปรากฏว่านางจันทร์มาทำศัลยกรรมกับโครงการของนาย ก. แล้วเกิดอาการต่าง ๆ รวมทั้งมีแผลเป็นด้วย นาย ก. จึงต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น แม้ว่าในการทำศัลยกรรมจะไม่ปรากฏว่าแพทย์ได้ทำสิ่งใดที่ผิดปกติหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นก็ตาม
    ส่วนโรงพยาบาล ข. เมื่อปรากฏว่าลักษณะของการกระทำที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ร่วมทำธุรกิจในโครงการนี้ร่วมกับนาย ก. โรงพยาบาลก็ต้องร่วมรับผิดด้วยเช่นกัน
    ดังนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจได้โฆษณาหรือให้คำรับรองใด ๆ แก่ผู้บริโภคซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่าหากทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจแล้วจะได้รับสิ่งนั้นตามคำโฆษณาหรือรับรอง คำโฆษณาหรือรับรองนั้นย่อมเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากกรณีไม่เป็นไปตามคำโฆษณาหรือรับรองแล้ว ผู้บริโภคย่อมเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2566)

ความคิดเห็น • 2