พระอาพาธ ฉันอาหารในเวลาวิกาลได้หรือไม่? โดยพระมหาเพลินชัย ธมฺมธโร และพระมหาอัมพร อาภสฺสโร

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 30 ก.ย. 2024
  • ตอบคำถาม เรื่อง #พระอาพาธฉันอาหารในเวลาวิกาลได้หรือไม่? #ถ้าจำเป็นต้องฉันยาหลังอาหารในเวลาวิกาลเพื่อไม่ให้ยากัดกระเพาะควรทำอย่างไร?
    วิทยากร พระมหาเพลินชัย ธมฺมธโร, พระมหาอัมพร อาภสฺสโร และพระมหาอลงกรณ์ จนฺทสาโร
    สนทนาธรรมวินัย ณ สำนักปฏิบัติธรรมบ้านไร่อารีย์ธรรม ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
    วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
    *น้ำซาวข้าว, น้ำต้มถั่วเขียว (ทั้งแบบข้นและไม่ข้น) และน้ำต้มเนื้อ เป็นเภสัชที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้สำหรับพระอาพาธในเภสัชชขันธกะ (ดู วิ.มหา.๕/๒๖๙/๕๐)
    #วินิจฉัยเรื่องการฉันอาหารในเวลาวิกาล
    ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า
    โย ปน ภิกฺขุ วิกาเล ขาทนียํ วา โภชนียํ วา ขาเทยฺย วา ภุญฺเชยฺย วา ปาจิตฺติยํ.
    ภิกษุเคี้ยวของเคี้ยวหรือฉันของฉันในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์
    คำอธิบายจากกังขาวิตรณีอรรถกถา :-
    คำว่า #ในเวลาวิกาล (วิกาเล) ได้แก่ ในกาลที่ผ่านไปแล้ว อธิบายว่า #ตั้งแต่ล่วงเลยเที่ยงวันไปจนถึงอรุณขึ้น
    [ในฎีกาอธิบายจุดนี้เพิ่มว่า
    แม้เวลาเที่ยงตรงก็ถึงการสงเคราะห์ว่าเป็น กาล. ก็ตั้งแต่เวลาเที่ยงตรงนั้นไป ไม่อาจเพื่อจะเคี้ยวหรือฉันได้, [โดย]ยังอาจเพื่อจะรีบดื่มได้, แต่ภิกษุผู้สงสัยอยู่ไม่ควรทำ. และเพื่อรู้กำหนดเวลา ควรปักเสาเวลาไว้. พึงทำภัตกิจภายในกาลเท่านั้น (กงฺขา.นวฏี. ๔๑๐-๑)]
    เพราะเหตุนั้น ในระหว่าง[วิกาล]นั้น ภิกษุใดรับประเคนของเคี้ยวหรือของฉันที่ถึงการนับว่าเป็นอามิสซึ่งดิบหรือสุกก็ตาม เอาตั้งแต่รากไม้ในป่าหรือผลไม้ในป่าอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่การกลืนกิน,
    ในเพราะการรับประเคน ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ,
    ในเพราะทุกๆ การกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
    #จำแนกอาบัติ
    สิกขาบทนี้เป็นติกปาจิตตีย์ (คือ ถ้าเป็นเวลาวิกาล ถึงภิกษุจะเข้าใจว่าเป็นวิกาล ไม่แน่ใจ หรือเข้าใจว่าเป็นกาลก็ตาม เมื่อฉันอาหาร ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทั้งนั้น)
    - เพราะการรับประเคนหรือการกลืนกินยามกาลิกเป็นต้นเพื่อเป็นอาหาร ต้องอาบัติทุกกฏ
    - กาล ภิกษุเข้าใจว่าเป็นวิกาลหรือไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
    #อนาบัติ (เหตุที่ทำให้ไม่ต้องอาบัติ)
    ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
    ๑. กาล ภิกษุเข้าใจว่าเป็นกาล
    ๒. ภิกษุฉันยามกาลิกเป็นต้นในเมื่อมีเหตุ (คือมีความกระหาย)
    ๓. ภิกษุวิกลจริต
    ๔. ภิกษุต้นบัญญัติ (คือ พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์)
    ๕. ภิกษุผู้มักเรออ้วก ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ว่า
    “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการเรออ้วกแก่ภิกษุผู้มักเรออ้วก, แต่อ้วกที่ออกมานอกทวารปากแล้ว ไม่ควรกลืนกิน”
    #องค์อาบัติ (องค์ประกอบที่ต้องมีครบจึงจะต้องอาบัติ)
    วิกาลโภชนสิกขาบทนี้ มีองค์ ๓ คือ
    ๑. เป็นเวลาวิกาล (คือตั้งแต่เลยเที่ยงไปจนถึงก่อนอรุณวันใหม่ขึ้น)
    ๒. เป็นยาวกาลิก (คือพวกอาหาร)
    ๓. มีการกลืนกิน
    *ถามว่า #ภิกษุอาพาธฉันอาหารในเวลาวิกาลได้หรือไม่?
    การจะดูว่าถ้าภิกษุทำอย่างนั้นๆ แล้วจะต้องอาบัติหรือไม่? มีหลักสำคัญที่ใช้วินิจฉัยคือ อนาบัติและองค์อาบัติ ก็ในเรื่องนี้ ในอนาบัติ หาได้ยกเว้นกรณีภิกษุอาพาธไว้ไม่ (คือไม่มีกล่าวว่า ภิกษุอาพาธฉันอาหารในเวลาวิกาลได้) ทั้งในองค์อาบัติ ก็มี ๓ อย่างดังกล่าว ดังนั้น แม้จะอาพาธ ถ้าฉันอาหารในเวลาวิกาลให้ล่วงลำคอลงไปก็ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ด้วยวิกาลโภชนสิกขาบท
    ถามว่า แล้วถ้าจำเป็นต้องฉันยาหลังอาหารในเวลาวิกาล ซึ่งยานั้นจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ หากไม่มีอะไรรองท้องล่ะ ควรทำอย่างไร?
    แม้ภิกษุจะไม่สามารถฉันอาหารซึ่งจัดเป็นยาวกาลิกในเวลาวิกาลได้ แต่สิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันในเวลาวิกาลได้เมื่อมีเหตุก็มีอยู่ ได้แก่ กาลิก ๓ อย่างที่เหลือ คือ ยามกาลิก (พวกน้ำปานะ), สัตตาหกาลิก (เภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย) และยาวชีวิก (พวกสมุนไพรและยาต่างๆ) ดังนั้น ภิกษุก็สามารถพิจารณาเหตุความจำเป็นแล้วเลือกฉันสิ่งเหล่านี้ก่อนแล้วจึงฉันยาก็ได้ เช่น เม็ดแมงลัก, เนยใส, น้ำผึ้ง ฯลฯ
    ติดตามในช่องทางอื่นๆ:
    Facebook : เพจนานาวินิจฉัย / mahasilananda
    Facebook : พระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท / mahaparkpoom
    TikTok : นานาวินิจฉัย / mahasilananda
    Instagram : นานาวินิจฉัย / mahasilananda

ความคิดเห็น • 6

  • @ปัญญาชนคนสองแผ่นดิน
    @ปัญญาชนคนสองแผ่นดิน 7 หลายเดือนก่อน

    ที่กล่าวมานั้นมีโยมอุปถากทำให้..กรณีย์ที่เป็นสงฆ์อยู่ในวัดกันแค่3รูป.จะให้ทำอย่างไร..และในวัดไม่มีอะไรเลย..ต้องฉันท์ทันทีพร้อมอาหาร...ขอคำแนะนำครับ..นมัสการครับ

  • @VinayaBhikkhu5536
    @VinayaBhikkhu5536 7 หลายเดือนก่อน

    สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนา​ครับ

  • @onamphan
    @onamphan 7 หลายเดือนก่อน

    พระที่หมู่บ้านปวดขา..หุงข้าวฉันเองที่กุฏิถือว่าผิดพระวินัยใช่หรือไม่เจ้าคะ..

    • @MahaSilananda
      @MahaSilananda  7 หลายเดือนก่อน +1

      พระทำอาหารให้สุกเองไม่ได้เนาะ เรียกว่า สามังปักกะ ถ้าฉันอาหารที่ทำให้สุกเอง จะมีอาบัติทุกกฏ

  • @พณฯ.ฟาน
    @พณฯ.ฟาน 7 หลายเดือนก่อน

    🙏🙏🙏