นกขมิ้นสามชั้น : ครูสอน วงฆ้อง เดี่ยวฆ้องวงใหญ่

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 10 พ.ค. 2022
  • นกขมิ้นสามชั้น : ครูสอน วงฆ้อง เดี่ยวฆ้องวงใหญ่
    ฆ้องวงใหญ่ : ครูสอน วงฆ้อง
    กลองสองหน้า : ครูสมพงษ์​ นุช​พิจารณ์
    ฉิ่ง : ครูศักดา คำศิริ
    บันทึกเสียงเมื่อปี ๒๕๑๘ ที่ห้องอัดเสียง "นวลน้อย" ของ พลตำรวจตรีวิลาส หงสเวส ซอยนวลน้อย เอกมัย กรุงเทพมหานคร.
    - ประวัติ ครูสอน วงฆ้อง -
    ครูสอน วงฆ้อง เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๕ ที่บ้านเจ้าเจ็ด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายขัน และนางนิ่ม
    ในด้านการศึกษาทางดนตรีนั้นครูสอนได้เริ่มต้นหัดปี่พาทย์กับครูทอง ฤทธิรณ ซึ่งเป็นครูปี่พาทย์ในละแวกบ้าน ต่อมาจึงได้มาเป็นศิษย์ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) และด้วยความที่ครูสอนเป็นผู้ที่มีปฏิภานไหวพริบและความเฉลียวฉลาด มีความแม่นยำในการจดจำเป็นอย่างยิ่ง จึงนับได้ว่าเป็นศิษย์ที่ได้วิชาความรู้ทางดนตรีจากพระยาเสนาะดุริยางค์มากที่สุด จนมีอยู่หลายครั้งที่พระยาเสนาะดุริยางค์ได้บอกเพลงให้ครูสอนและมอบหมายให้เป็นผู้นำไปเผยแพร่กับนักดนตรีท่านอื่นๆอีกทอดหนึ่ง
    สำหรับหน้าที่ทางด้านการเป็นนักดนตรีของครูสอนได้เริ่มต้นจากการเป็นคนฆ้องวงประจำวงดนตรีของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวังในรัชกาลที่ ๖ ต่อมาเมื่อมีอายุเข้าเกณฑ์รับราชการทหาร ท่านได้ไปรับราชการทหารเป็นทหารประจำสังกัดกรมทหารรักษาวัง จนเมื่อพ้นราชการทหารจึงถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๐ และรับราชการมาจนเมื่อภายหลังการเปลี่ยนแปลง การปกครองจึงโอนมาสังกัดกรมศิลปากรจนเกษียณอายุราชการ และได้รับการจ้างต่อให้เป็นครูพิเศษในวิทยาลัยนาฏศิลป์
    ครูสอน วงฆ้อง มีความสามารถในทางด้านดนตรีโดยเล่นเครื่องปี่พาทย์ได้อย่างดีทุกเครื่อง ยกเว้นปี่ และที่ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ คือ ฆ้องวงใหญ่ จนพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสพระราชทานนามสกุลไว้ว่า “วงฆ้อง” เพราะตีฆ้องได้ไพเราะนัก คุณสมบัติพิเศษของคุณครูสอน วงฆ้อง คือ แม่นเพลง และแม่นจังหวะ อันถือว่าเป็นสิ่งพิเศษ และได้รับการยกย่องว่าเป็นประหนึ่ง “ตู้เพลง” ของวงการดุริยางค์ไทย เพราะเป็นผู้ที่สามารถที่จะไถ่ถามได้ถึงเพลงต่างๆ และสามารถที่จะตอบได้เปรียบเสมือนกับการค้นหาหนังสือในตู้เก็บของ ครูสอน วงฆ้องได้รับรางวัลที่ ๒ ในการตัดสินการประชันปี่พาทย์ ณ วังบางขุนพรหม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ประเภทฆ้องใหญ่ สำหรับศิษย์ที่มีชื่อเสียงของครูสอน คือ นายชั้น ดุริยประณีต นายพิชิต ชัยเสรี และนายบุญช่วย โสวัตร
    ผลงานคีตนิพนธ์ของครูสอน มีหลายเพลงด้วยกัน มีดังนี้
    เดี่ยวฆ้องใหญ่ : นกขมิ้น ต่อยรูป ดอกไม้ไทร อาเฮีย สุดสงวน นารายณ์แปลงรูป ฉิ่งมุล่ง และทยอยเดี่ยว (แต่งร่วมกับพระยาเสนาะดุริยางค์)
    เดี่ยวระนาดเอก : ลาวแพน ทยอยเดี่ยว
    ด้านชีวิตครอบครัว ครูสอน วงฆ้อง สมรสกับนางเยื้อน มีบุตรธิดา ๓ คน สายหยุด (หญิง) พรทิพย์ (หญิง) และชูเกียรติ (ชาย)
    ในช่วงบั้นปลายของชีวิต คุณครูสอน วงฆ้องได้รับเชิญจากกรมศิลปากร เพื่อตีฆ้องเพลงเดี่ยวต่างๆ เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งคุณครูก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ได้ปิดบังอำพรางความรู้แต่อย่างใด จนเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๘ ขณะที่อัดเสียงเพลงกราวใน เพลงเดี่ยวเพลงกราวในอยู่ที่ห้องอัดเสียงนวลน้อย เอกมัย ท่านก็ได้สิ้นใจในวงฆ้องด้วยโรคหัวใจ สิริอายุได้ ๗๔ ปี.
    (ที่มาประวัติ : เวปไซด์​ TK Park, อ.พิชิต ชัยเสรี)​
    ที่มาภาพถ่าย : ผศ.ชูเกียรติ วงฆ้อง, โกญจนาจ วิบูลย์เพ็ง
    อนุเคราะห์​เทป​คาสเซ็ท​ : ผศ.อู่ทอง​ ประศาสน์​วินิจฉัย​
    สำเนาเสียงจากเทปคาส​เซ็ท​ : ฉ​ั​ต​รกร​ เกตุ​มี
    เพื่อการเผยแพร่อนุรักษ์​เพลงไทย​ใน​การศึกษา​ มิได้มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์และแสวงหารายได้
    ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ : / @deklenkhimchannel7019

ความคิดเห็น •