นกขมิ้น สามชั้น

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 10 เม.ย. 2020
  • เพลงนกขมิ้นเป็นเพลงประเภทปรบไก่ มีสามท่อน ท่อนแรกมีความยาว 3 จังหวะ ท่อนที่สองมีความยาว 2 จังหวะ ท่อนที่สามมีความยาว 2 จังหวะ
    ครูมนตรี ตราโมทและครูวิเชียร กุลตัณฑ์ ได้กล่าวถึงประวัติของเพลงนี้ไว้ในหนังสื่อชื่อ "ฟังและเข้าใจเพลงไทย" ว่า
    "สมัยโบราณมีเพลงเรื่องในประเภทเพลงช้าอยู่เรื่องหนึ่ง เรียกว่า “แม่ม่ายคร่ำครวญ” เพลงช้าเรื่องนี้มีเพลงนกขมิ้นตัวผู้และนกขมิ้นตัวเมียรวมอยู่ด้วย และเพลงนกขมิ้นตัวเมียนั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เพลงแม่ม่ายคร่ำครวญ เพราะฉะนั้นเพลงนี้จึงเรียกว่า “แม่ม่ายคร่ำครวญ” โดยปกติถ้าต้องการจะบรรเลงเพลงช้าแล้วไม่ว่าเพลงช้าเรื่องใด ผู้บรรเลงย่อมนำมาบรรเลงเป็นเพลงหน้าพาทย์ ประกอบการแสดงโขนละครในกิริยาไปมาที่สุภาพเรียบร้อยเมื่อผู้แสดงต้องการรำเพลงช้าได้ทั้งสิ้น แม้เพลงเรื่องแม่ม่ายคร่ำครวญนี้ ก็นำมาใช้บรรเลงได้ แต่ถ้าผู้พากย์เจรจาโขนหรือหนังใหญ่หรือผู้บอกบทโขนละคอน เขาบอกเจาะจงว่าเพลงช้าเรื่องใดโดยเฉพาะแล้วผู้บรรเลงจะต้องบรรเลงด้วยเพลงเรื่องนั้น จะเลือกเพลงอื่นมาบรรเลงไม่ได้ เช่น ในการแสดงหนังใหญ่ชุดหนุมานอาสา ตอนที่ทศกัณฐ์ยกนางสุวรรณกันยุมาชายาอินทรชิตให้เป็นภริยาหนุมานนั้น เวลาที่นางสุวรรณกันยุมาขึ้นเฝ้า ซึ่งจะต้องใช้หน้าพาทย์เพลงช้า ผู้พากย์เจรจาจะบอกหน้าพาทย์ว่า “แม่ม่ายคร่ำครวญ” ปี่พาทย์ก็จะต้องบรรเลงเพลงช้าด้วยเพลงเรื่องแม่ม่ายคร่ำครวญ ซึ่งมีเพลงนกขมิ้นตัวผู้และตัวเมียรวมอยู่ด้วยนั้น จะเลือกเพลงช้าอื่น ๆ เช่น เรื่องสร้อยสน เรื่องเต่ากินผักบุ้งมาบรรเลงไม่ได้
    ส่วนทางเพลงดนตรีของมอญมีเพลงในจำพวกเพลงเร็วอยู่เพลงหนึ่ง ซึ่งทำนองของเพลงมอญเพลงนั้น เทียบได้ตรงกับอัตราชั้นเดียวของเพลงนกขมิ้น (ตัวผู้) ของไทย จึงไม่สามารถจะชี้ขาดลงไปได้ว่าไทยเรานำเอาเพลงของมอญซึ่งเป็นอัตราชั้นเดียวมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๒ ชั้น และตั้งชื่อว่าเพลงนกขมิ้น บรรเลงเป็นเพลงช้าในเรื่องแม่ม่ายคร่ำครวญ หรือมอญได้นำเอาเพลงนกขมิ้นของไทยไปตัดลงเป็นชั้นเดียวใช้บรรเลงเป็นเพลงเร็ว ในสมัยที่นิยมการร้องและบรรเลงเพลงอัตรา ๓ ชั้นกันอย่างแพร่หลาย ราวสมัยรัชกาลที่ ๔ ครูเพ็งซึ่งเป็นญาติเรียงพี่เรียงน้องของพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) จึงได้นำเพลงนกขมิ้นตัวผู้ในเพลงเรื่องแม่ม่ายคร่ำครวญ ซึ่งเป็นอัตรา ๒ ชั้น มาแต่งขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น สอดแทรกเพิ่มการร้องดอกและปี่เป่าว่าดอกตามเสียงร้องในท่อน ๓ ขึ้น ทำให้ไพเราะเพราะพริ้งขึ้นอีก เป็นอันมาก ได้มีผู้นำไปร้องและบรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายในตับต้นเพลงฉิ่ง ได้รับความนิยมในวงการดนตรีไทย ใช้ร้องและบรรเลงกันสืบมาจนปัจจุบันนี้ นอกจากจะใช้ร้องและบรรเลงโดยปกติแล้ว เพลงนกขมิ้น ๓ ชั้นของครูเพ็งยังได้รับเลือกเป็นเพลงสำหรับบรรเลงเดี่ยวอวดฝีมือกันอีกด้วย
    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ นายมนตรี ตราโมท ได้แต่งบทและทำนองร้องเพลงนกขมิ้น ๒ ชั้น และชั้นเดียวขึ้น โดยเพิ่มทำนองร้องและว่าดอกตามแนวอัตรา ๓ ชั้น ของครูเพ็ง เพื่อใช้ร้องรวมกันได้ครบเป็นเพลงเถา ส่วนทำนองดนตรีที่บรรเลงรับอัตรา ๒ ชั้น ใช้ทำนองเพลงอย่างในเพลงเรื่องแม่ม่ายคร่ำครวญของเก่า และอัตราชั้นเดียวก็ใช้ทำนองของเพลงมอญ
    ปัจจุบันเพลงนกขมิ้นได้ถูกนำไปใช้ในหลายวาระ ทั้งในรูปแบบของดนตรีไทยและดนตรีไทยสมัยนิยม โดยมีการนำเพลงนกขมิ้นมาประพันธ์ในรูปแบบของเพลงเดี่ยวสำหรับเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย รวมถึงการใช้เพลงนกขมิ้นเป็นเพลงลำลาเป็นลำดัยสุดท้ายของการบรรเลงอีกด้วย
    ** วิดีโอชุดนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสื่อกลางให้นักดนตรีที่ผ่านการเรียนเพลงดังกล่าวมาแล้วได้ทบทวน ผู้จัดทำยังเชื่อว่าการเรียนดนตรีควรเรียนกับครูผู้ชำนาญการ **
    ผู้บรรเลงฆ้องวงใหญ่ : ปกป้อง ขำประเสริฐ
    ฉิ่งและกลองแขก : เรียบเรียงในโปรแกรม FL Studio 20
    Camera : Panasonic Lumix Gh4 with LUMIX G X VARIO 12-35mm / F2.8 II ASPH. / POWER O.I.S
  • เพลง

ความคิดเห็น • 3

  • @conservethaiartculture
    @conservethaiartculture 4 ปีที่แล้ว +10

    เพลงนกขมิ้นอัตรา ๒ ชั้น ของเก่า ประเภทหน้าทับปรบไก่มี ๓ ท่อน ท่อนที่ ๑ มี ๓ จังหวะท่อนที่ ๒ และท่อนที่ ๓ มีท่อนละ ๒ จังหวะ
    เพลงที่ชื่อนกขมิ้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ เพลง คือ เพลงนกขมิ้นตัวผู้และเพลงนกขมิ้นตัวเมีย เพลงนกขมิ้นตัวเมียเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเพลงแม่ม่ายคร่ำครวญ
    ราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูเพ็ง ได้นำเพลงนกขมิ้นตัวผู้ อัตรา ๒ ชั้น มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น สอดแทรกเพิ่มการร้องและปี่เป่าว่าดอกตามเสียงร้องในท่อน ๓ ทำให้ไพเราะยิ่งขึ้น แล้วเรียกชื่อว่า "เพลงนกขมิ้น" ต่อมานิยมใช้เป็นเพลงเดี่ยวอวดฝีมือด้วยเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ
    (สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัติและบทร้องเพลงเถา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

  • @chantaratdechapichaiwat9364
    @chantaratdechapichaiwat9364 ปีที่แล้ว

    ขอบคุณที่ให้ความรู้ข้อมูลเพลงอย่างละเอียดที่คนไม่เป็นเรื่องดนตรีอย่างดิฉันได้รับทราบด้วยค่ะ..เพลงนกขมิ้นแม้บรรเลงด้วยฆ้องวงเดียวก็ไพเราะมากๆค่ะ