EP1728 คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญากรณีศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่รับฟ้องคดีส่วนอาญายกฟ้อง

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 18 พ.ย. 2024
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 78/2565
    ป.อ. มาตรา 341
    ป.พ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252
    ป.วิ.อ. มาตรา 40, 158 (5)
    พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4)
    ---
    เมื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้ว ลำพังเพียงการที่จำเลยแจ้งโจทก์ว่าไม่มีรางวัลของจำเลยตามใบรับรองการถูกรางวัลและไม่มีหลักฐานการดำเนินการทางกฎหมายของจำเลยแก่บริษัทต่างประเทศชื่อ E ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินรางวัล ก็ยังไม่อาจสรุปข้อเท็จจริงจากคำบรรยายฟ้องได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ใด ๆ อันแสดงถึงการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการออกใบรับรองการถูกรางวัลที่บริษัท E ส่งมาให้แก่โจทก์อย่างไร และการกระทำของจำเลยประการใดที่ทำให้จำเลยได้รับทรัพย์สินไปจากโจทก์ หรือทำให้โจทก์ต้องทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
    คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในกรณีศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่รับฟ้องคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาหรือพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา การพิจารณาว่าศาลนั้นมีอำนาจรับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 2 (1) ว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา และโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินรางวัล 18,117,213.87 บาท พร้อมดอกเบี้ย 90,586.06 บาท ซึ่งเกินกว่าอำนาจที่ผู้พิพากษาคนเดียวจะพิจารณาพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท เท่ากับเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีในทางเนื้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคท้าย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) และทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ไม่ชอบไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และ ป.วิ.อ. มาตรา 40
    ___________________________
    ประมวลกฎหมายอาญา
    ----
    มาตรา ๓๔๑ ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    ----
    ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
    ---
    มาตรา ๔๐ การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
    ----
    มาตรา ๑๕๘ ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
    (๕) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
    ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
    ----
    พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
    --
    มาตรา ๒๕ ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
    (๑) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
    (๒) ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย
    (๓) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
    (๔) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
    (๕) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้
    ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (๓) (๔) หรือ (๕)

ความคิดเห็น •