Special Report : น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ร.ที่ 7 ครบรอบ 97 ปี พระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินฯ

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 14 ก.พ. 2024
  • น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 7 ครบรอบ 97 ปี พระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินฯ สร้างความมั่นคงทางพลังงาน นำพาประเทศไทยผ่านพ้นภาวะวิกฤต
    .
    ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งภาคนโยบายได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระค่า Ft แทนประชาชนไปพลางก่อนตั้งแต่งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 จนถึง ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นราคาเชื้อเพลิงได้ปรับลดลงทำให้ กฟผ. เริ่มทยอยได้รับต้นทุนค่า Ft ค้างรับคืนมาบางส่วน ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. ยังคงเหลือค่า Ft ที่แบกรับแทนประชาชนอยู่ที่ประมาณ 95,000 ล้านบาท
    .
    ขณะเดียวกัน มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ได้เห็นชอบให้เลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าร้อนแม่เมาะ หน่วยที่ 8-11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า พยุงราคาพลังงาน ทำให้ เหมืองแม่เมาะ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตถ่านหินลิกไนต์และหินปูน ส่งให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องผลิตถ่านเพิ่มอีก 14.6 ล้านตัน
    .
    ทั้งนี้ กฟผ.แม่เมาะ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 หน่วยงาน ทั้งเหมืองแม่เมาะและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ถือเป็นอีกหนึ่งความมั่นคงทางพลังงาน ช่วยลดภาระ และพยุงราคาต้นทุนค่าพลังงานของประเทศ โดยเหมืองแม่เมาะในปัจจุบันมีปริมาณถ่านหินลิกไนต์คงเหลือ 148 ล้านตัน (ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566) สามารถขุดได้อีกประมาณ 17 ปี จากปริมาณถ่านที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด 827 ล้านตัน
    .
    สำหรับถ่านหินลิกไนต์ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปางนั้น ย้อนไปเมื่อปี 2466 ถูกค้นพบจากการสำรวจหาแหล่งเชื้อเพลิงในประเทศไทย
    .
    ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2470 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ใช้ในราชการเท่านั้น
    .
    ต่อมาในปี 2497 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “องค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์” เพื่อดำเนินกิจการถ่านลิกไนต์ให้เกิดผลอย่างจริงจัง ได้เปิดการทำเหมืองแม่เมาะ ผลิตและจำหน่ายให้กับโรงบ่มใบยาสูบในภาคเหนือ โรงงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่นครราชสีมา โรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด ที่ตาคลี (นครสวรรค์) โรงไฟฟ้าวัดเลียบ และโรงไฟฟ้าสามเสน ของการไฟฟ้านครหลวง (กทม.)
    .
    กระทั่งปี 2503 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง “การลิกไนต์” โอนกิจการและทรัพย์สินขององค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการลิกไนต์คล่องตัวและกว้างขวางมากขึ้น จนเมื่อปี 2512 ได้จัดตั้ง “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” ขึ้น โดยรวมเอากิจการของการลิกไนต์ , การไฟฟ้ายันฮี และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นหน่วยงานเดียวกัน
    .
    ในปี 2515 ได้เริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ จำนวน 3 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยละ 75 เมกะวัตต์ พร้อมกับขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตถ่านลิกไนต์เป็นปีละล้านตัน จากเดิมปีละแสนกว่าตัน จนปัจจุบัน ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018 rev.01) โรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีกำลังการผลิต 2,455 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 19,000 ล้านหน่วยต่อปี
    ขณะที่ เหมืองแม่เมาะ ปัจจุบันมีพื้นที่บ่อเหมืองประมาณ 16,000 ไร่ กว้าง 4 กิโลเมตร และยาว 7 กิโลเมตร ยังคงผลิตถ่านหินลิกไนต์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าตามแผนการให้ได้อย่างต่อเนื่อง ปีละประมาณ 14-15 ล้านตัน ต้องเปิดหน้าดินประมาณ 112 ล้านลูกบาศก์เมตรแน่นต่อปี มุ่งพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง พร้อมกับเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ตามแผนแม่บทการทำเหมืองที่จะดำเนินการจนถึงปี 2592 ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชนโดยรอบพื้นที่การทำงาน
    .
    สำหรับการดำเนินงานหลังจากนี้จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แม่เมาะ กำลังการผลิต 38.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 65.368 ล้านหน่วยต่อปี นำร่องติดตั้งเพื่อใช้ในการดำเนินงานการทำเหมือง และยังได้วางแผนพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงปี 2592 กำลังผลิตรวม 2,405 เมกะวัตต์
    .
    รวมถึง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage) เพื่อทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่ของระบบไฟฟ้า ช่วยบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน , การศึกษาโครงการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage: CCS) , โครงการสำรวจและศึกษาการทำเหมืองใต้ดินบริเวณกลางแอ่งแม่เมาะ และการขายวัตถุพลอยได้จากการทำเหมือง (Humic) ของเหมืองแม่เมาะ เป็นต้น
    .
    นับจนถึงปัจจุบันในปี 2567 นี้ เป็นเวลากว่า 97 ปี แล้วที่ประเทศไทยได้นำถ่านหินลิกไนต์มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจ นำพาประเทศไทยผ่านพ้นภาวะวิกฤตมาหลายต่อหลายครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ใช้ในราชการเท่านั้น ซึ่งการทำงานของเหมืองแม่เมาะ นอกจากจะปฏิบัติงานตามภารกิจของ กฟผ. เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศแล้ว ยังเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อีกด้วย
    #egat
    #egatforall
    #เหมืองแม่เมาะ
    #กฟผ
    #กฟผแม่เมาะ

ความคิดเห็น •