7 ระยะของธุรกิจ ที่เจ้าของต้องรู้ เพื่อไม่ให้โฟกัสผิดจนเสียหาย

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 16 ธ.ค. 2019
  • ธุรกิจมีหลายระยะ แต่ละระยะมีความท้าทายที่แตกต่างกัน มีเรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องให้ความสำคัญที่ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็เหมือนหลับหูหลับตาบริหารธุรกิจไป จนอาจสร้างความเสียหายใหญ่ที่ยากกู้สถานการณ์กลับคืนได้
    The Balance Small Business แบ่งระยะของธุรกิจออกเป็น 7 ระยะ ดังนี้
    (1) Seed Stage ระยะเมล็ดพันธุ์
    เป็นระยะที่ธุรกิจของคุณยังเป็นแค่ไอเดีย หรือความคิดในหัวเท่านั้น ความท้าทายที่สุดของระยะนี้ คือ การทำให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับของตลาด และเริ่มมีลูกค้าของตัวเองสักหนึ่งราย สิ่งสำคัญที่สุดของระยะนี้ คือ การมองหาธุรกิจที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ที่ตัวเองมี และเป็นธุรกิจที่ตัวเองหลงใหล เมื่อพบแล้วคุณก็ยังต้องตัดสินใจเรื่องโครงสร้างธุรกิจ มองหาคนที่จะมาช่วยคุณโดยเฉพาะคนที่เป็นมืออาชีพในสาขานั้นๆ แล้วเริ่มต้นวางแผนธุรกิจเลย
    (2) Start-up Stage ระยะเริ่มต้น
    เป็นระยะที่ธุรกิจมีตัวตนตามกฎหมาย มีสินค้าหรือบริการที่พร้อมส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า และมีลูกค้ารายแรกแล้ว ในระยะนี้ ลูกค้ามักมีความต้องการมากมายที่อยากให้เราตอบสนอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกความต้องการที่เราควรใส่ใจ ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายที่สุดจึงเป็น การมองให้ออกว่า อะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้เราตอบสนองและความต้องการนั้นสามารถสร้างกำไรให้กับเราได้ เจ้าของธุรกิจต้องคอยตรวจสอบเสมอว่า ธุรกิจยังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ สิ่งที่ทำอยู่ทำให้เรามีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้กับกิจการได้หรือไม่
    (3) Growth Stage ระยะเติบโต
    เป็นระยะที่ธุรกิจมีรายได้และฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจเกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งอาจนำมาซึ่งกำไรมหาศาล และคู่แข่งที่พร้อมเข้ามาแย่งชิงตลาด แน่นอนว่าในระยะนี้ธุรกิจเริ่มขยายตัว มีคนมากขึ้น มีงานมากขึ้น และมีประเด็นที่ต้องการการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเกิดขึ้นมากมาย ความท้าทายสำคัญจึงอยู่ที่เรื่องของการบริหารจัดการ การกระจายงานไปยังบุคลากร และการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสำหรับงานที่ได้รับมอบหมาย ในระยะนี้บางธุรกิจอาจจะต้องกลับมานั่งทบทวนโมเดลธุรกิจใหม่ เนื่องจากพบว่าสนามแข่งที่ตัวเองอยู่ในเปลี่ยนสภาพไปแล้ว
    (4) Established Stage ระยะสถาปนา
    เป็นระยะที่ธุรกิจเติบใหญ่จนรุ่งเรือง มีที่ยืนที่ชัดเจนในตลาด มีลูกค้าที่จงรักภักดี ยอดขายยังเติบโตต่อเนื่องแม้ว่าจะไม่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนเดิม การบริหารจัดการแบบมืออาชีพกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น งานต่างๆ ภายในองค์กรเริ่มแปลงสภาพเป็นงานประจำที่ซ้ำเดิมทุกวัน ซึ่งการจะเอาชนะคู่แข่งในสนามแข่งที่ดุเดือดแบบนี้และอยู่รอดต่อไปในอุตสาหกรรมได้ มีแต่การพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เท่านั้น การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ หรือการลดต้นทุน เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกส่วนของธุรกิจต้องให้ความสนใจ แต่สำหรับตัวเจ้าของเองนั้น ในระยะนี้ สิ่งที่ท้าทายมากกว่า คือ การปล่อยงานบริหารจัดการธุรกิจบางส่วนไป โดยมอบหมายให้กับมืออาชีพที่ไว้ใจได้ แล้วหันมามองไปที่ภาพใหญ่มากขึ้น ใส่ใจในสภาพเศรษฐกิจ การขยับตัวของคู่แข่ง และพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอย่างทันท่วงที
    (5) Expansion Stage ระยะขยับขยาย
    เป็นระยะที่ธุรกิจตัดสินใจก้าวสู่ตลาดใหม่ ด้วยการเพิ่มสินค้าและบริการ หรือการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาด หรือค้นพบแหล่งรายได้ใหม่ที่จะช่วยขยายกำไรให้กับกิจการ ในระยะนี้ธุรกิจจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการวิจัยตลาดและการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่อีกครั้ง สิ่งที่สำคัญคือ การขยับขยายธุรกิจควรตั้งอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์และความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ได้รับมาจากธุรกิจเดิม การขยับขยายธุรกิจใหม่ไปยังธุรกิจหรือพื้นที่ที่ไม่มีความชำนาญเลย อาจนำมาซึ่งหายนะครั้งใหญ่ จนทำให้ธุรกิจเดิมต้องสั่นคลอนไปด้วยก็เป็นได้
    (6) Decline Stage ระยะถดถอย
    เป็นระยะที่ธุรกิจสูญเสียรายได้และกำไรที่เคยมี อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม หรือสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป สำหรับบางธุรกิจ นี่อาจกลายเป็นจุดจบที่มาถึงได้อย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของระยะนี้ คือ การบริหารกระแสเงินสดที่ติดลบ ให้ยืนระยะได้นานที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามหาทางปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายนอก หรืออีกหนึ่งทางเลือกก็คือ หาทางออกจากธุรกิจไปแบบสวยๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจมากที่สุด
    (7) Exit Stage ระยะออกจากธุรกิจ
    เป็นระยะสุดท้ายที่เจ้าของกิจการจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อแรงกายของตัวเองได้ เจ้าของกิจการบางรายอาจเลือกขายกิจการออกไปให้นักลงทุนรายอื่น ซึ่งจุดที่มักทำให้เรื่องนี้ยากมาก คือ การตีมูลค่าของกิจการที่แตกต่างกัน เจ้าของกิจการมักตีมูลค่าจากสิ่งที่ตัวเองได้ทุ่มเททำเพื่อธุรกิจนี้ไป หรืออาจมองไปที่มูลค่าในยุคที่ธุรกิจอยู่ในจุดรุ่งเรืองที่สุด ในขณะที่นักลงทุนจะมองจากมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจ ซึ่งเกือบทุกครั้งมูลค่าจริงจะน้อยกว่ามูลค่าในใจของเจ้าของ ทำให้การตกลงเพื่อซื้อขายกิจการไม่เกิดขึ้นจริง เจ้าของธุรกิจบางรายอาจจำเป็นต้องเลือกปิดกิจการลง เพื่อยุติการไหลออกของกระแสเงินสดที่สะสมไว้ ก่อนที่การดื้อรั้นดันทุรังจะทำให้ตัวเจ้าของกิจการกลายเป็นหนี้ก้อนโตไปตลอดชีวิต
    #แล้วธุรกิจของคุณอยู่ในระยะไหน #บิลด์คลับ #BUILDclub
    source: www.thebalancesmb.com/find-yo...
  • แนวปฏิบัติและการใช้ชีวิต

ความคิดเห็น • 2

  • @maoa1584
    @maoa1584 4 ปีที่แล้ว +1

    รอติดตามคลิปใหม่ๆอยู่นะครับ

    • @coachgaius
      @coachgaius  4 ปีที่แล้ว

      ขอบคุณครับ ^^