การแสดงละครใน เรื่องอิเหนา ตอนอิเหนา จินตะหรา มาหยารัศมี สการะวาตีชมสวน

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 2 ก.พ. 2024
  • การแสดงนาฏศิลป์ไทย ภายในงานเฉลิมพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประจำปี ๒๕๖๗ ณ โรงละครกลางแจ้งกฤษฎารณฤทธิ์ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วัน เสาร์ ที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๗
    บทละครใน เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนบทละครสำหรับใช้แสดงละครใน โดยทรงศึกษารวบรวมข้อมูลมาจากบทละครพระนิพนธ์ใน เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลและเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ทั้งสิ้น ๔๕ เล่มสมุดไทย เมื่อพระราชนิพนธ์เสร็จ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้คณะละครในผู้ชาย ในสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ที่ได้รับตกทอดมาจาก สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเชษฐาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ นำบทละครในเรื่องอิเหนาที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่นี้ ลองนำไปประดิษฐ์ท่ารำและทดลองแสดง จนมีนักแสดงที่มีชื่อเสียงขึ้นมาถึงสองท่าน ได้แก่ ครูทองอยู่ อิเหนา ครูรุ่ง บุษบา และโปรดเกล้าฯให้ละครของกรมหลวงพิทักษมนตรีเข้ามาสอนกระบวนท่ารำละครเรื่องอิเหนานี้แก่ละครหลวงในพระองค์
    เรื่องอิเหนาแต่เดิมนั้นเป็นนิทานที่เล่ากันมากในประเทศชวา (อินโดนีเซีย) บางที่เรียกนิทานปันหยี เป็นนิทานอิงประวัติศาสตร์ มีเค้าโครงเรื่องจากพงศาวดารชวา มีมากมายหลายสำนวน นิทานอิเหนาสันนิษฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยหญิงเชลยปัตตานีผู้เป็นข้าหลวงรับใช้เจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้เล่าถวาย จากนั้นพระราชธิดาทั้งสองทรงแต่งเป็นบทละครเรียกว่าอิเหนาเล็ก (อิเหนา) และ อิเหนาใหญ่ (ดาหลัง) ดังมีบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์อิเหนาของพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นเพลงยาวในตอนท้ายตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
    ในปีพ.ศ. ๒๔๕๙ วรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกย่องให้บทละครใน เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่าเป็นยอดแห่งบทละครรำ เพราะเป็นหนังสือที่แต่งดี มีลีลาภาษาที่ สละสลวยและงดงาม ทั้งยังให้ความรู้ด้านประเพณีไทยโบราณอีกด้วย
    การแสดงละครใน เรื่องอิเหนา ตอนอิเหนา นางจินตะหรา นางสะการะวาดี และนางมาหยารัศมี หรือตอนนางจินตะหราพาอิเหนาไปชมสวนนี้ เนื้อเรื่องกล่าวถึงหลังจากที่ อิเหนาพระราชโอรสท้าวกุเรปัน เมื่อครั้งท้าวกุเรปันบัญชาให้อิเหนาคุมเครื่องสักการะไปเคารพพระศพพระอัยยิกา ณ เมืองหมันหยา อิเหนาจึงได้พบกับนางจินตะหรา พระราชธิดาของท้าวหมันหยา อิเหนาหลงรักนางจินตะหราจนไม่ยอมกลับเมือง จนท้าวกุเรปันต้องเรียกตัวกลับโดยอ้างว่าประไหมสุหรีทรงครรภ์แก่แล้ว แต่เมื่อประไหมสุหรีประสูติพระธิดาวิยะดาแล้วอิเหนาก็ออกอุบาย ขอออกประพาสป่าโดยปลอมเป็นโจรป่าชื่อว่า ปันหยี ระหว่างเดินทางเข้าเมืองหมันหยา ปันหยีได้ฆ่าระตูบุศสิหนาตาย ระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงันพี่ชายระตูบุศสิหนาขอยอมสวามิภักดิ์และยกโอรส ธิดา ได้แก่ นางสะการะวาดี นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา แก่ปันหยี เมื่ออิเหนาเสด็จเข้าเมืองหมันหยาและได้นางจินตะหราเป็นชายาแล้วก็เล่าความเบื้องหลังที่ได้สองราชธิดาและโอรสมาจากสองระตู นางจินตะหรานึกสงสารจึงรับสองนางและสังคามาระตาเข้าเมือง อิเหนาได้จินตะหราเป็นชายา พร้อมกับนางมาหยารัศมีกับนางสะการะวาดีเป็นพระชายารอง และรับสังคามาระตาเป็นพระอนุชา หลังจากนั้นอิเหนาก็ประทับอยู่กับสามนางยังเมืองหมันหยาไม่ยอมเสด็จกลับเมืองกุเรปันตามคำสั่งพระราชบิดาและยังบอกตัดตุนาหนังกับนางบุษบา พระราชธิดาท้าวดาหา วันหนึ่งนางจินตะหนาได้ทูลเชิญอิเหนาให้เสด็จไปยังสะตาหมัน(พระราชอุทยาน)ด้วยถึงช่วงฤดูที่พรรณพฤกษากำลังออกดอกเบ่งบาน พร้อมด้วยนางสะการะวาดี นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา อิเหนาจึงได้ตรัสสั่งสังคามาระตาให้ไปจัดเตรียมขบวนเสด็จ แล้วทั้งหมดก็ได้เสด็จประพาสยังสะตาหมันเมืองหมันยาจนเย็นย่ำจึงเสด็จกลับ
    รูปแบบการแสดง
    เป็นการแสดงละครในที่มีท่ารำงาม นักแสดงงาม และคำร้องทำนองงาม ตามแบบแผนของละครใน กระบวนท่ารำเป็นการรำตีบทตามคำร้อง และตีสัมพันธ์บทระหว่างตัวละครที่บรรยายถึงความงามของสะตาหมันหรือพระราชอุทยานของเมืองหมันหยาที่มีพันธุ์พฤกษาเบ่งบาน และบรรยายถึงเหตุการณ์ที่อิเหนาเที่ยวชมอุทยานไปกับพระราชชายาทั้งสามจนเย็นย่ำจึงเสด็จกลับวัง
    อำนวยการแสดง โดย นางประกอบ ลาภเกษร
    ปรับปรุงบท โดย นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ
    บรรจุเพลง โดย นางสาวทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ
    นำแสดงโดย
    อิเหนา - นางสาวนภัสวรรณ สือสกุล
    จินตะหรา - นางสาววิชญาพร สุขเกษม
    มาหยารัศมี - เด็กหญิงชนานันท์ สังเรืองเดช
    สะการะวาดี - เด็กหญิงธนพร โตเงิน
    สังคามาระตา - เด็กหญิงอินธีวรา แสนสุดสวาท
    และยุวศิลปิน ในอุปถัมภ์ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ฯ
    *บทการแสดงอยู่ในคอมเมนต์นะจ๊ะ จำนวนคำยาวเกิน / หรือ
    / 1567041067169967

ความคิดเห็น • 8

  • @user-hv3ze2qc3u
    @user-hv3ze2qc3u 4 หลายเดือนก่อน +1

    สวยงามค่ะ ขอบคุณที่ลงคลิปให้ดู ขอชื่นชมครูผู้สอนและลูกศิษย์ที่ตั้งใจร้ำเรียนและแสดงได้สวยงามมาก

  • @user-ub4zb6ew1m
    @user-ub4zb6ew1m 4 หลายเดือนก่อน

    ขอบคุณมากค่ะที่ลงคลิปให้ชม

  • @user-un5py9gr6s
    @user-un5py9gr6s 4 หลายเดือนก่อน +1

    ขอบคุณครับ

  • @teerawitgamer
    @teerawitgamer 4 หลายเดือนก่อน +1

    ขอบพระคุณมากครับที่ลงคลิปให้รับชมย้อนหลัง

  • @Refusekamikaze
    @Refusekamikaze  4 หลายเดือนก่อน +1

    บทการแสดงละครใน เรื่องอิเหนา ตอนอิเหนา
    -ฉากพระตำหนักของอิเหนาในเมืองหมันหยา-
    - ปี่พาทย์ทำเพลงวา -
    (นักแสดงทุกคนออกถวายบังคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี)
    (อิเหนา สังคามาระตา และสี่พี่เลี้ยงเข้านั่งในฉาก นักแสดงแสดงอื่น ๆ เข้าโรง)
    (อิเหนาประทับบนตั่ง มีสังคามาระตา และสี่พระพี่เลี้ยงอยู่เฝ้าตามที่)
    - ร้องเพลงสะดายง -
    เมื่อนั้น ระเด่นมนตรีเรืองสี
    เนาในหมันหยาธานี ภูมีมีสุขทุกเวลา
    - ร้องเพลงร่าย -
    คิดใคร่ไปประพาสชมสวน ที่เลือกล้วนแต่พรรณบุปผา
    จึงตรัสเรียกสังคามาระตา ให้จัดเตรียมโยธาพร้อมไว้
    -ร้องเพลงสามเส้า-
    เมื่อนั้น สังคามาระตาอัชฌาสัย
    ถวายบังคมลาคลาไคล ออกไปสั่งความตามบัญชา
    (สังคามาระตารับคำสั่งเข้าโรง อิเหนาเสด็จจากที่ประทับสอดสร้อยมาลาเข้าโรงพร้อมสี่พี่เลี้ยง)
    - ปี่พาทย์ทำเพลงระบำทวยหาญ -
    (กิตาหยัน(เสนา) ออกระบาทวยหาญจนจบกระบวนท่าแล้วเข้าโรง)
    -ฉากสะตาหมันเมืองหมันหยา-
    - ปี่พาทย์ทําเพลงกระบอกทอง -
    -อิเหนาเสด็จออกกับสามนาง พร้อมด้วยสังคามาระตา พระพี่เลี้ยงและกำนัล-
    - ร้องเพลงกระบอกทอง -
    ครั้นเรืองรุ่งแสงอโณทัย ภูวไนยแสนสุขสรรหรรษา
    จึงชวนสามทรามวัยไคลคลา เสด็จมายังสวนมาลี
    - ปี่พาทย์ทําเพลงเสมอ -
    (อิเหนา นางจินตะหรา นางสะการะวาดี และนางมาหยารัศมี รำเพลงหน้าพาทย์เสมอตามกระบวนท่าจนจบเพลงอยู่ตามที่ มีสังคามาระตา พระพี่เลี้ยง นางกำนัล และทหารตามเสด็จเฝ้าอยู่ ท้ายเพลงเสมอ ทั้งสี่รำเข้าสะตาหมัน มีขบวนพระพี่เลี้ยงกำนัลตามเสด็จ)
    - ร้องเพลงอาถรรพ์ -
    ชี้ชวนนวลนางพลางประพาส ชมพรรณรุกขชาติในสวนศรี
    บ้างระบัดผลัดใบเขียวขจี บ้างคลายคลี่ยอดแย้มแกมผกา
    พระโฉมยงทรงเก็บกุหลาบเทศ ประทานองค์อัคเรศจินตะหรา
    ทำเทียมเลียมลอดสอดคว้า กัลยาบังอรค้อนคม
    พระทรงสอยสร้อยฟ้าสาระภี ให้มาหยารัศมีแซมผม
    เลือกเก็บดอกลำดวนชวนชม ใส่ผ้าห่มให้สการะวาตี
    - ปี่พาทย์ทำเพลงฉิ่ง/ฉิ่งตรัง -
    -ร้องเพลงฝรั่งควง-
    ครั้นคลายแสงสีรวีวร ทินกรจำรัสรัศมี
    จึงชวนชวนสามสุดานารี จรลีจากที่อุทยาน
    พรั่งพร้อมรอเฝ้าเหล่ากำนัล เสนากิดาหยันทวยหาญ
    แห่แหนเป็นขนัดจัดการ คืนเข้าราชฐานวังใน
    - ปี่พาทย์ทำเพลงเชิด -
    (ทั้งหมดรำตามกระบวนท่าแล้วกลับเข้าฉาก)
    จบการแสดง

  • @user-ze6ow2bv7h
    @user-ze6ow2bv7h 4 หลายเดือนก่อน

    ❤❤❤❤❤

  • @user-xg7is2fh2x
    @user-xg7is2fh2x 4 หลายเดือนก่อน +2

    ละครในคือใช้ตัวแสดงหญิงล้วนใช่ไหมครับ

    • @Refusekamikaze
      @Refusekamikaze  4 หลายเดือนก่อน +2

      ใช่ค่ะ แต่ในยุคต้นกรุง ละครในหรือละครหลวงที่นักแสดงเป็นหญิงล้วนมีได้เฉพาะพระมหากษัตริย์ ละครหลวงในชั้นเจ้านายจึงใช้นักแสดงชายล้วน แต่ก็ยังแสดงตามแบบแผนของละครในทุกประการคือ รำงาม ผู้แสดงงาม คำร้องทำนองงาม แต่พักหลังช่วงร.3ทรงให้เลิกเล่นละครหลวง จึงเกิดการประสมโรงชายหญิงกันขึ้น ละครหลวงที่เอาละครหลวงออกไปฝึกหัดนอกเขตพระราชฐานก็มาก เลยเล่นละครหลวงชายจริงหญิงแท้ หรือหญิงล้วนกันทั้งในวังและนอกวัง จนมายุคกองการสังคีต ตอนที่อ.ธนิต อยู่โพธิ์ท่านมาดำรงค์ตำแหน่งผู้อำนวยการ ท่านได้รื้อฟื้นการแสดงต่าง ๆ กันขึ้นมาใหม่ แล้วได้จัดทำแบบแผนให้เป็นมาตรฐานว่าละครในต้องใช้นักแสดงเป็นหญิงล้วนอีกครั้งหนึ่งค่ะ