คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2540

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 10 พ.ย. 2024
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2540
    ศาลแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมสรรพากรที่ไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นคำอุทธรณ์แก่โจทก์นั้นได้หรือไม่ เห็นว่า การอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติไว้ให้สิทธิแก่ผู้รับการประเมินที่จะอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว ผู้รับการประเมินก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลได้อีกภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวนั้น ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร 2528 มาตรา 7( อนุมาตรา 1) แต่ผู้รับการประเมินจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้เช่นว่านั้น และได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านและคำอุทธรณ์นั้นเสร็จแล้ว ดังที่มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร. 2528 บัญญัติไว้ สำหรับกรณีที่ผู้รับการประเมินมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาในการอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรได้นั้น มาตรา 3 อัฏฐ ก็ได้บัญญัติว่าเมื่ออธิบดี (กรมสรรพากร) พิจารณาเห็นเป็นการสมควรจะให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้ วิธีการดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ผู้รับการประเมินจะต้องปฏิบัติโดยถูกต้องเพื่อการที่จะได้รับการพิจารณาและพิพากษาคดีจากศาลภาษีอากรกลางได้ ดังนั้น กรณีที่ผู้รับการประเมินมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาการอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาในการยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ หากอธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้รับการประเมินมีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาการอุทธรณ์การประเมินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 แต่กลับสั่งไม่อนุมัติให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไปแก่ผู้รับประเมินตามความจำเป็นแก่กรณี เป็นการขัดขวางมิให้ผู้รับการประเมินได้รับสิทธิในการพิจารณาอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และสิทธิในการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้ย่อมเห็นได้ว่าคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับการประเมินจึงมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ศาลภาษีอากรกลางเพิกถอนคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวได้ เพื่อให้ศาลภาษีอากรกลางแก้ไขคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรเสียใหม่ให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากร มาตรา 3 อัฏฐต่อไป โดยถือว่าคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร มิฉะนั้นผู้รับการประเมินย่อมไม่มีทางที่จะได้รับสิทธิตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 3 อัฏฐ และมาตรา 30 บัญญัติไว้นั้นได้ ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ได้นั้น ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
    ปัญหาในข้อที่สองมีว่า คำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรที่ไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นคำอุทธรณ์แก่โจทก์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติโดยโจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันแล้วนั้นว่า เจ้าพนักงานประเมินส่งหนังสือแจ้งการประเมินแก่โจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้นำหนังสือดังกล่าวไปส่งแก่โจทก์ ณ สำนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2536 พนักงานของโจทก์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวรยามรักษาการณ์ได้ลงลายมือชื่อในใบไปรษณีย์ตอบรับในการรับหนังสือแจ้งการประเมินนั้นไว้ ซึ่งวันที่ 6 ธันวาคม 2536 นั้นเป็นวันหยุดทำการของโจทก์ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.2 เนื่องจากเป็นวันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินตามความเป็นจริงในวันที่ 7 ธันวาคม 2536 จึงได้ยื่นคำอุทธรณ์การประเมินในวันที่ 6 มกราคม 2537เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์นั้นไว้ ต่อมาโจทก์ทราบจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยว่าคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นไว้เกินกำหนด 30 วัน ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30บัญญัติไว้ไป 1 วัน โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2537ขอให้อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ออกไปอธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า กรณียังไม่มีเหตุจำเป็นอันสมควร จึงไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นคำอุทธรณ์ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ข้อเท็จจริงฟังได้หรือไม่ว่าโจทก์มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาการยื่นคำอุทธรณ์ที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 30 บัญญัติไว้ ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของนายทศพล รัตนวิจิตร พยานโจทก์ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายทศพลยื่นคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2537นายทศพลทำคำอุทธรณ์เสร็จพร้อมที่จะยื่นได้ก่อนวันที่ 6 มกราคม 2537 นายทศพลเคยนำคำอุทธรณ์ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2537 แต่ผลสุดท้ายนายทศพลได้ขอคำอุทธรณ์นั้นคืนมาจากเจ้าหน้าที่เสีย เนื่องจากมีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันการขอทุเลาการเสียภาษีอากร ซึ่งจะต้องแก้ไขเสียก่อน ผลก็คือโจทก์มิได้ยื่นคำอุทธรณ์ในวันที่ 3 มกราคม 2537 สำหรับการยื่นคำอุทธรณ์นั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรพร้อมกันด้วย ดังที่นายทศพลยื่นคำอุทธรณ์ในวันที่ 6 มกราคม 2537 ก็ไม่ได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรด้วยแต่อย่างใด

ความคิดเห็น •