EP1648 แม้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาการบังคับชำระหนี้คดีล้มฯ ต้องปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติพ.ร.บ.ล้มฯ

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 1 ต.ค. 2024
  • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2566
    ป.พ.พ. มาตรา 1300
    ป.วิ.พ. มาตรา 225, 252
    พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28/2 วรรคสอง
    พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22, 27, 96 (3)
    -------------------
    เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว และทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดย่อมต้องถูกรวบรวมเข้ามาเพื่อการจัดการในคดีล้มละลายเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย แต่ผู้คัดค้านที่ 2 จะบังคับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายเท่านั้น ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27 ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 ก็ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้มีประกันด้วยการขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 (3) การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งรวมทั้งห้องชุดพิพาทในวันที่ 15 มีนาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้วย่อมเป็นการไม่ชอบ และผู้ร้องก็ไม่อาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเป็นคดีสาขาในคดีแพ่งดังกล่าวได้เช่นกัน ผลคำพิพากษาคดีที่ขอกันส่วนไม่มีผลผูกพันคู่ความในคดีดังกล่าวรวมถึงผู้คัดค้านที่ 1 เพราะกระบวนพิจารณาในชั้นขอกันส่วนในคดีแพ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ทำขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 252 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28/2 วรรคสองพฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองห้องชุดพิพาทไว้โดยสุจริต การกระทำของจำเลยและผู้คัดค้านที่ 2 ทำให้ผู้ร้องซึ่งชำระราคาห้องชุดครบถ้วนแล้วเสียหาย เมื่อการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทางเสียเปรียบแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน ผู้ร้องจึงเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองห้องชุดดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของจำเลยจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนอง และไม่จำต้องนำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 2
    ___________________________
    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
    มาตรา ๑๓๐๐ ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้
    --------------
    พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓
    ------------------
    มาตรา ๒๒ เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
    (๑) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
    (๒) เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
    (๓) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
    ------------------
    มาตรา ๒๗ เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม
    ------------------
    มาตรา ๙๖ เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
    (๑) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน
    (๒) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
    (๓) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
    (๔) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้นั้น และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ
    ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งโดยหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนหรือตกลงให้ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสี่เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ถือว่ายินยอมให้ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิทธิไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้น
    บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
    --------------------------------

ความคิดเห็น •