เพลงแสนคำนึง เถา วงมโหรีกรมประชาสัมพันธ์ คุณครูวาสนา รุ่งเรือง ขับร้อง4591

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 22 พ.ค. 2023
  • หนึ่งในประวัติศาสตร์ของการดุริยางคศิลป์ไทยนั้น ได้ถูกบันทึกไว้ว่าในช่วงหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เปนระบอบประชาธิปไตย ภายใต้พระมหากษัตริย์เปนองค์พระประมุขนั้น เปนช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมไปเถิงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยแลการปรับเปลี่ยนรสนิยมของไทยให้ทันสมัยเพื่อแสดงความเปนอารยชน ตามที่ท่านผู้นำประเทศได้ประกาศนโยบายไว้
    ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเปนการถือกำเนิดของเพลงไทยไพเราะบทเพลงหนึ่ง ที่เดิมนั้นท่านผู้ประพันธ์ได้ตั้งใจไว้ว่าจะให้เปนเสมือนเครื่องประกาศความคับแค้นใจ ที่นโยบายดังกล่าวสร้างความร้าวฉานให้วงการศิลปะดนตรีของชาติ ดังเหตุการณ์จำลองแลคำกล่าวผ่านทางภาพยนตร์ไทยเรื่องโหมโรงว่า "ไม้ใหญ่จะยืนทะนงต้านแรงช้างสารอยู่ได้ ก็ด้วยรากที่หยั่งลึกและแข็งแรง ถ้าไม่ดูแลรักษากันให้ดี เราจะอยู่รอดกันได้แบบไหน?" ซึ่งเปนคำกล่าวที่กินใจยิ่งนัก จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเปนปฐมเหตุของการประพันธ์เพลงไทยไพเราะนี้ขึ้น เปนบทเพลงที่ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ได้ประพันธ์ขึ้นโดยนำทำนองเพลงไทยสำเนียงลาวเก่าแก่บทเพลงหนึ่งที่ใช้บรรเลงคู่กับเพลงลาวต้อยตลิ่ง สองชั้น มาแต่งขยายขึ้นเปนอัตราจังหวะสามชั้น สองชั้นแลชั้นเดียวจนครบเปนเพลงเถา เปนเพลงที่มีจำนวน ๒ ท่อนด้วยกัน นอกจากนี้ท่านได้ประดิษฐ์ตกแต่งท่วงทำนองให้พร้อมมูลด้วยลูกล้อลูกขัดที่ไพเราะสง่างาม สร้างสีสันแลความโดดเด่นไว้ตลอดทั้งเพลงอย่างวิจิตรพิสดารยิ่ง รวมไปเถิงการบรรเลงเดี่ยวท้ายเพลงไปจนกระทั่งออกลูกหมด สำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๓ ให้นามว่าเพลงแสนคำนึง เถา
    บทขับร้องของเพลงนี้ ท่านได้นำบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี มาเปนบทขับร้อง ซึ่งยังความสอดคล้องเข้ากันได้ดีกับเนื้อหาสาระของทำนองเพลงได้อย่างวิเศษ ถึงแม้ว่าจะเปนบทเพลงที่มีความยาวมากจนเรียกได้ว่า "น่าเบื่อ" ของผู้บรรเลงบางท่าน แต่ทว่าหากพิเคราะห์ได้ถี่ถ้วน ย่อมเห็นซึ่งกระสวนแห่งความงดงามของคีตกวีที่ท่านได้ประจงจิตแต่งไว้อย่างประณีตหาผู้ใดเสมอเหมือน ท่วงทีลีลาแลอารมณ์ของบทเพลงนี้สื่อให้เห็นเถิงความรัก ความเสน่หาอาลัยในสิ่งที่รัก อีกทั้งแสดงให้เห็นเถิงความหวั่นวิตกของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าที่กำลังจะมาเถิงในไม่ช้า เปนการสำแดงอารมณ์สองขั้วในคราวเดียวกันที่คีตกวีสามารถบรรยายลงไปในบทเพลงนี้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์พร้อม
    สำหรับเพลงแสนคำนึง เถา ที่ท่านกำลังสดับรับรสอยู่นี้ เปนผลงานการขับร้องของคุณครูวาสนา รุ่งเรือง อดีตข้าราชการคีตศิลปิน ๖ ฝ่ายดนตรีไทย ส่วนบริหารการดนตรี สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับวงมโหรีกรมประชาสัมพันธ์ในความอำนวยการของคุณครูระตี วิเศษสุรการ แลข้าราชการวงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์หลายท่าน ดังนี้
    ๑.คุณครูเมธา หมู่เย็น ระนาดเอกมโหรี
    ๒.คุณครูกิตติพงษ์ มีป้อม ระนาดทุ้มมโหรี
    ๓.คุณครูศิริ นักดนตรี ฆ้องมโหรี
    ๔.คุณครูระตี วิเศษสุรการ จะเข้
    ๕.คุณครูฉลวย จิยะจันทน์ ซออู้
    ๖.คุณครูนิพันธ์ ธนรักษ์ ซอด้วง
    ๗.คุณครูเทียมเทพ บุญจำเริญ ขลุ่ยเพียงออ
    ๘.คุณครูธงชัย สุนทรศารทูล กลองแขก
    ๙.คุณครูช้องมาศ สุนทรวาทิน ฉิ่ง
    ๑๐.คุณพยนต์ แฟงคล้าย เจ้าหน้าที่บันทึกเสียง
    เปนบทเพลงประวัติศาสตร์ที่วงมโหรีกรมประชาสัมพันธ์ได้บันทึกเสียงไว้เมื่อราวพุทธศักราช ๒๕๒๕ ณ ห้องบันทึกเสียงกรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร การขับร้องในครั้งนี้คุณครูวาสนา พรชื่น ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่าท่านได้ต่อเพลงนี้จากคุณครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ ถือว่าเปนบทเพลงที่หาฟังยากของท่านอีกบทเพลงหนึ่งเลยทีเดียว แลขอขอบพระคุณอาจารย์ศิวศิษฏฺ์ นิลสุวรรณแลอาจารย์บรรพต ชาดง ที่ได้กรุณามอบแถบบันทึกเสียงประวัติศาสตร์นี้ไว้แก่ข้าพเจ้าเมื่อ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา แลขอถือโอกาสนี้ส่งต่อความศุขแลความบันเทองแก่ท่านผู้ฟังที่รักทุกท่านมา ณ โอกาสนี้
    ห้องสมุด ตำรา แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงแลภาพถ่าย คุณวริศ อัศวะไพฑูรย์4591
    ภาพประกอบบทเพลง คุณครูวาสนา พรชื่น ณ ท้องพระโรงวังสวนกุหลาบ (กล้องวริศ)

ความคิดเห็น • 1

  • @jujijiji-kf6kk
    @jujijiji-kf6kk 6 หลายเดือนก่อน

    ฟังแล้วเสียงเหมือนดวงเนตรมาก.