ลายฟ้อนตังหวาย วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 4 พ.ค. 2024
  • ฟ้อนตังหวาย วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
    ลำตังหวาย เป็นศิลปะการแสดงที่ปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสองฝั่งแม่น้ำโขง ไทย - ลาว โดยเริ่มต้นจากการขับลำประกอบดนตรี ภายหลังมีการฟ้อนรำประกอบ ทำนองการลำตังหวาย จนเป็นที่นิยมนำมาขับลำเพื่อความบันเทิงสองฝั่งแม่น้ำโขง และมีการนำมาสร้างสรรค์การขับลำและประกอบการแสดงอยู่เสมอ การลำตังหวายเริ่มต้นที่ บ้านตังหวายโคก เมืองซนนะบุรี แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเผยแพร่มายังประเทศไทยข้ามฝั่งแม่น้ำโขงสู่ บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลัง วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในปัจจุบัน) ได้นำการแสดงลำตังหวายมาสร้างสรรค์การแสดงใหม่ และเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักมาถึงปัจจุบัน
    การลำตังหวาย ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื้อหาในการแสดงเน้นหนักในเรื่องของ การร้องในทำนองลำตังหวาย เป็นหลัก มีท่าฟ้อนรำ 4 ท่า เปลี่ยนสลับไปมาไม่ซับซ้อน มีการร้องรับในบทสร้อยว่า ยวกๆ ยวกๆ ส่วนการฟ้อนรำตังหวายที่ บ้านม่วงเจียด ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มีการร้องบทสร้อย ยวกๆ ยวกๆ โดยมีท่าฟ้อนรำอยู่ 12 ท่า ส่วนท่าฟ้อนรำของ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีท่ารำเปลี่ยนไปตามบทร้องทุกท่อน และมีท่าฟ้อนรำเฉพาะในบทสร้อย ยวกๆ ยวกๆ เช่นเดียวกัน
    ต้นกำเนิดการลำตังหวาย
    การขับลำตังหวาย คือการขับลำพื้นเมืองประเภทหนึ่ง ของชนเผ่าลาวเทิง บรูกระตาก แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และในแขวงสะหวันนะเขตจะมี 8 ชนเผ่าด้วยกัน เช่น ในเขตดอย (ภูเขาสูง) ประกอบด้วย ตะโอ้ย จะลี และ กะเลิง ในเขตที่ราบสูงและที่ราบทั่วไปมี เผ่ากะตาง ละว้า ส้อย และเผ่ามะกอง ที่ราบลุ่ม คือ กลุ่มเผ่าลาว
    การลำตังหวาย เดิมเรียกว่า "ลำตำหลอย" โดยกลอนลำตำหลอยหรือตังหวายนั้น คือได้สืบทอดมาจากการเหยายา (การลำเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์และคณะ ที่กล่าวว่า "ลำตังหวาย" สืบทอดมาจากการขับลำในพิธีกรรม “การเหยายา” หรือการรักษาคนป่วย เช่น ลำผีฟ้า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชนเผ่ากะตางมาเนิ่นนาน การลำตังหวายนี้ ถ้าหากการลำอยู่แถวที่ราบสูง เป็นภาษาชนเผ่า เรียกว่า “ลำกะล็องเยาะ” ถ้าหากลำอยู่แถวที่ราบทั่วไป เป็นภาษาเผ่าชนเหมือนกัน เรียกว่า “ลำตำหลอย” ถ้าหากลาวลุ่มใช้ขับลำตามจังหวะเดิมมาเป็นภาษาลาวลุ่มเรียกว่า “ลำตังหวาย” เหตุที่เรียกว่า ตังหวาย เพราะเรียกการขับลำนี้ตามชื่อหมู่บ้าน “ตังหวายโคก”
    จากข้อมูลของ ท้าวทองเสน วงคีรี นายบ้านตังหวายโคก เมืองซนนะบุรี แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ให้ข้อมูลว่า "ชาวบ้านตังหวายโคก เป็นชาวกลุ่มลาวเทิง เผ่ากระตาง สื่อสารภายในหมู่บ้านใช้ภาษาบรู กลุ่มภาษามอญ-เขมร และสามารถใช้ภาษาลาวได้ อดีตนับถือผี ปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธ แต่ยังคงถือผีควบคู่กันไป การลำตังหวายสืบทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย การแสดงลำตังหวายในอดีตยังไม่มีชื่อ เรียกว่า ลำกลองเญาะ ภายหลังได้ใช้ชื่อว่า ลำตำหลอย" ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของโพสีแก้ว ทำวิสิด ที่ได้นำเสนอข้างต้น
    การลำตังหวาย สามารถลำกันได้ทุกเพศ ทุกวัย ในอดีต ผู้ชายจะเป็นฝ่ายลำเพื่อการเกี้ยวพาราสีฝ่ายหญิง (ในภาษาบรู เรียกการเกี้ยวสาวว่า ปา-รา-เยอะ-กะ-โมล) ถ้าฝ่ายหญิงมีความสามารถโต้ตอบได้ ก็จะตอบกลับโดยใช้ผญาโต้ตอบฝ่ายชาย การลำตังหวายไม่มีการประพันธ์ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นการลำแบบด้นสด สามารถคิดการลำได้เอง โดยใช้ทำนองลำตังหวาย
    เวลามีงาน หรือเวลามีแขกต่างถิ่นมาเยี่ยมเยือน จะมีการลำตังหวายให้ชม ปัจจุบัน มีการสืบทอดรุ่นใหม่ โดยผู้ที่มีพรสวรรค์จะมาลำตังหวาย โดยส่วนใหญ่จะใช้นักเรียนในโรงเรียนเป็นผู้สืบทอด ชาวบ้านตังหวายโคก เองเคยได้รับเชิญไปทำการแสดงที่ประเทศเวียดนาม และภายในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามโอกาสสำคัญ

ความคิดเห็น • 3

  • @user-us1ox4em9i
    @user-us1ox4em9i 12 วันที่ผ่านมา +1

    นึกถึง ดำดงครับ มีท่อนนึงที่ร้อง"คนงามเอ่ย"

  • @user-pi7qw4vh9o
    @user-pi7qw4vh9o 13 วันที่ผ่านมา

    บ่เห็นมีหยังเลย มีแต่ภาพนิ่ง ตั๋วกัน

    • @sebsintinEsan
      @sebsintinEsan  13 วันที่ผ่านมา

      ลายฟ้อน หมายถึงเพลงที่ใช้ ประกอบการแสดงค่ะ