ลาวแพน : ครูเทียบ คงลายทอง เดี่ยวปี่ใน

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 16 ก.ย. 2024
  • ลาวแพน : ครูเทียบ คงลายทอง เดี่ยวปี่ใน
    ปี่ใน : ครูเทียบ คง​ลา​ยทอง
    กลองแขก : ครูพริ้ง กาญจนะผลิน
    : ครูสมพงษ์​ นุช​พิจารณ์
    ฉิ่ง : ครูประเสริฐ ภัทรนาวิก
    - ลาวแพน -
    ลาวแพนเป็นเพลงที่นักดนตรีนิยมนำมาบรรเลงเป็นเพลงเดี่ยวอวดฝีมือกันมากเพลงหนึ่ง ประวัติเดิมนั้นเล่ากันว่า เพลงนี้มีต้นเค้ามาจากเพลงที่นิยมร้องเล่นกันในหมู่เชลยชาวลาวที่ไทยกวาดต้อนมาจากเมืองเวียงจันทร์ในสมัยตอนต้นๆ ของยุครัตนโกสินทร์ ท่วงทำนองเพลงนี้มีทั้งความอ่อนหวานรำพึงรำพันและโศกเศร้าระคนกัน จะเห็นได้จากเนื้อร้องเดิมที่บรรยายถึงความยากลำบากทุกข์ระทมใจที่ต้องจากบ้านเมืองมาอยู่ในต่างแดน
    ต่อมานักดนตรีไทยเห็นว่าเพลงนี้มีท่วงทำนองแปลกไพเราะน่าฟังจึงนำมาปรุงแต่งเสียใหม่ให้เข้ากับอรรถรสของบทเพลงไทยที่มีสำเนียงลาว และเนื่องจากเค้าโครงของเพลงนี้มีลักษณะพิเศษที่เปิดโอกาสให้ปรุงแต่งท่วงทำนองที่แปรเปลี่ยนไปได้มากมายหลากหลายรูปแบบ จึงมีการคิดประดิษฐ์ทางเพลงที่แตกต่างกันออกไปหลายแนวทางด้วยกัน
    เมื่อรวมกับการที่นำเพลงลาวแพนไปบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีต่างชนิดกันยิ่งทำให้แนวทางการบรรเลงมีความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีท่วงทำนองส่วนใหญ่นั้นยังคงมีเอกลักษณ์ที่คล้ายคลึงกันอยู่มาก เช่นตอนท้ายเพลงจะต้องมีการบรรเลงด้วยท่วงทำนองที่สนุกสนานเร้าใจที่เรียกกันว่า "ออกซุ้ม" ก่อนที่จะจบการเดี่ยว.
    - ประวัติ ครูเทียบ คง​ลา​ยทอง​ -
    ครูเทียบ คงลายทอง เป็นบุตรของนายแปลก และนางสอน เกิดเมื่อวันจันทร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปี ปีขาล ตรงกับวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๕ ที่บ้านเลขที่ ๒๗๑ ตำบลวัดกัลยาณมิตร แขวงบุปผาราม อำเภอธนบุรี กรุงเทพมหานคร
    ในเบื้องต้นครูเทียบไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนใดเลย แต่อาศัยเรียนกับคนข้างบ้าน จนพออ่านออกเขียนได้ จากนั้นจึงเริ่มเรียนดนตรีกับบิดา โดยเริ่มต้นโดยการเป่าขลุ่ยเป็น อย่างแรกมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อมีอายุได้ ๙ ขวบจึงได้จับมือให้เรียนฆ้องใหญ่กับครูทองดี ชูศักดิ์ ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของจางวางทั่ว พาทยโกศล ต่อมาจึงได้เรียนปี่ในกับครูจู ภิญโญ จนล่วงเข้าถึงวัยรุ่นอายุประมาณ ๑๖ ปี บิดาจึงนำตัวฝากเป็นศิษย์ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)
    ชีวิตการเป็นนักดนตรีของครูเทียบเริ่มต้นจากการเป็นคนปี่ในวงปี่พาทย์ของ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีเสนาบดีกระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ ๖ จนเมื่ออายุครบเกณฑ์ทหารจึงเข้ารับราชการทหารสังกัดกรมทหารรักษาวังไปจนพ้น ราชการทหาร จึงเข้าถวายตัวมหาดเล็กในกองพิณพาทย์หลวงในกรมมหรสพในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระ ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับราชการในสังกัดนี้ไปจนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือราวปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้โอนมาสังกัดแผนกดุริยางค์ไทยกรมศิลปากรและรับราชการในกรมศิลปากรเรื่อยมา จนเกษียณอายุราชการ แต่ก็ยังได้รับการจ้างเป็นครูพิเศษในวิทยาลัยนาฏศิลป์ต่อมา
    ครูเทียบ คงลายทอง มีความสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีได้รอบวง แต่ที่ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ คือ ปี่ใน และปี่ชวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้รับรางวัลที่สองจากการเป่าปี่ใน ในการประชันวงปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหม เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ สำหรับผลงานในทางราชการนั้นท่านได้เคยไปแสดงฝีมือในการเผยแพร่นาฏศิลป์ดนตรี ไทยในต่างประเทศ ในหลายๆคราว เช่น ที่ประเทศลาว พม่า มาเลเชีย อินโดนีเซีย เยอรมัน และญี่ปุ่น ซึ่งในการแสดงแต่ละครั้งท่านได้สร้างความประทับใจให้แก่ชาวต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง จนมีอยู่หลายคราวที่ชาวต่างประเทศตามมาหัดปี่ที่บ้านด้วยความชื่นชมในฝีมือ
    นอกจากนี้ยังได้มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงเอาไว้หลายๆแผ่น ซึ่งมีทั้งเพลงเดี่ยวและเพลงเถา และมีโอกาสได้ร่วมบันทึกเสียงกับ กรมศิลปากรเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติอยู่หลายต่อหลายเพลง
    แต่ผลงานที่ครูเทียบภาคภูมิใจ คือ การเป่าปี่แสดงฝีมือเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดช ณ พระตำหนักไทยเรือนต้น ภายในพระราชวังจิตรลดารโหฐาน และยังได้ทำปี่ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนึ่งเลา ณ พระราชวังไกลกังวลอีกด้วย เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗ และต่อมาได้ถวายแบบฝึกหัดเป็นโน้ตสากลสำหรับการฝึกหัดเป่าปี่และเข้าเฝ้า พระเจ้าอยู่หัวอยู่หลายครั้ง
    ชีวิตครอบครัวของครูเทียบท่านสมรสกับ นางสาวสว่าง (สกุลเดิม วิเชียรปัญญา) มีบุตรธิดาทั้งสิ้นจำนวน ๑๒ คน ซึ่งในนี้มีอยู่หลายคน ที่มีชื่อเสียงทางดนตรี คือ นายทวี คงลายทอง นายรัศมี คงลายทอง นายทวีป คงลายทอง และนายปี๊บ คงลายทอง ท่านรับราชการเป็นครูพิเศษในวิทยาลัยนาฏศิลป์ ด้วยความอุตสาหวิริยะ มาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ ท่านได้ถึงแก่กรรมลง ด้วยโรคไต สิริอายุได้ ๘๐ ปี.
    (ที่มาประวัติ : นัยยรินทร์ ชัยพัชรานนท์
    : ห้องดนตรีสมเด็จ​พระ​เทพรัตน์
    : เวปไซด์ TK Park Music Libraly)
    ภาพถ่าย : อาจารย์อัษฎาวุธ สา​คริก
    เทปคาสเซ็ท เพลงเดี่ยวดนตรีไทย
    สำเนาเสียงจากเทปคาส​เซ็ท​ : ฉ​ั​ต​รกร​ เกตุ​มี
    เพื่อการเผยแพร่อนุรักษ์​เพลงไทย​ใน​การศึกษา​ มิได้มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์และแสวงหารายได้
    ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ : / @deklenkhimchannel7019

ความคิดเห็น • 1

  • @somwangphulsombat8468
    @somwangphulsombat8468 2 ปีที่แล้ว

    ลีลา ต่างกับครูเทวา เพราะคนละแบบ