ถึงเธอ - ขับร้องโดย เจตนา นาควัชระ

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 30 ก.ย. 2024
  • เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น/ร้อง (7)
    -------------------------------------------
    ผมรู้ดีว่าการที่หาญเข้ามาร้องเพลงที่นักร้องระดับแนวหน้าของประเทศไทยได้สร้างต้นแบบเอาไว้แล้วนั้น เป็นการเสี่ยงมาก ยิ่งไปกว่านั้น การไป “แย่ง” เพลงที่ต้นแบบอันเลอเลิศเป็นเพลงของผู้หญิงเสียด้วย ก็ยิ่งเป็นการเสี่ยงมากขึ้นไปอีก แต่ต้องสารภาพว่าหักห้ามใจไว้ไม่ได้ เพราะรักและบูชาเพลงนี้เหนือเพลงอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
    เมื่อตอนที่กลุ่มนักวิชาการทางอักษรศาสตร์รวมตัวกันทำวิจัยเรื่อง “กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัยฯ” เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้วนั้น เรามีประเด็นที่นำมาอภิปรายกันบ่อยครั้งอยู่ประเด็นหนึ่ง ซึ่งผมเสนอขอตั้งชื่อว่า “กวีศาสตร์สำนึก” คือเป็นเรื่องของหลักการ (จึงกล้านำคำว่า “กวีศาสตร์” เข้ามาใช้) หมายความว่า เป็นการที่กวีนิพนธ์สำนึกในพลังและบทบาทหน้าที่ของตนเอง และแสดงออกด้วยกวีนิพนธ์ คุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ แต่งเนื้อร้องเพลง “ถึงเธอ” เข้ากับแนวคิด “กวีศาสตร์สำนึก” ของกลุ่มเราได้อย่างดียิ่ง ยิ่งไปกว่านั้นเพลงของเธอมีหลายมิติ เริ่มต้นทำทีว่าจะเป็น “การประกาศลัทธิ” (manifesto) ที่ตอกย้ำถึงคุณค่าของวรรณศิลป์ ซึ่งกวีสร้างขึ้นด้วยความประณีต แต่แล้วก็กลายรูปไปเป็นเพลงรักที่อิงขนบทาง วรรณศิลป์ของไทย ซึ่งผู้ที่มีความรักฝาก “สารรัก” ไปกับธรรมชาติให้นำไปมอบให้กับผู้เป็นที่รัก มีเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สร้างขึ้นในทำนองนี้อยู่หลายเพลง เช่น “ฝากลมวอน” “สั่งรัก” และอื่นๆ
    สำหรับนักอักษรศาสตร์ที่พลัดหลงเข้ามาในวงคีตศิลป์ เพลง “ถึงเธอ” มีสถานะพิเศษ เพราะครูเอื้อทำ “เป็นเพลง” ได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง ทั้งทำนองของครูเอื้อและคำร้องของคุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ เรียบง่ายและลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ครูภาษาไทยคงจะไม่ลังเลที่จะลงความเห็นว่าทุกอย่าง “ลงตัว” ในขณะที่นักดนตรีและนักร้องก็คงจะต้องคารวะคีตศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ให้ทำนองที่สื่อได้ทั้งความคิดที่เป็นหลักการและอารมณ์รักที่มาจากส่วนลึก นอกจากนั้นนักร้องจะต้อง “สู้” กับการวางระดับเสียงจากต่ำไปหาสูงให้ได้ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายให้ชวนรับคำท้า
    แล้วนักร้องสมัครเล่นจะวางตัวไว้ตรงไหน ต้นแบบของคุณรวงทองนำมาเลียนแบบไม่ได้ เรียกเป็นภาษาฝรั่งได้ว่า “inimitable” เมื่ออาจารย์นรอรรถมาเรียบเรียงดนตรีใหม่สำหรับวงซิมโฟนีก็ทำเพลงที่ฝากฝีมือเอาไว้อย่างไม่มีใครจะติติงได้ ทั้งยังเลือกนักร้องรุ่นใหม่ คือคุณธีรนัย ที่อยู่ในระดับเดียวกับนักร้อง มิวสิคัลของตะวันตกเอง (ลองฟังเพลงจาก “The Sound of Music” ที่เธอร้องเอาไว้ แล้วจะเข้าใจดีว่าผมกำลังสื่อความอะไร) นักร้องสมัครเล่นทำได้อย่างเดียว คือร้องไปตรงๆ โดยไม่ต้องปรุงแต่งอันใด ใช้ความสามารถในทางอักษรศาสตร์ในการทำความเข้าใจกับสารของเพลงให้ดี เสียงกระหึ่มของวงซิมโฟนีเป็นสิ่ง
    ที่สร้างความฮึกเหิมใจให้ได้ เกาะวงเอาไว้ (แม้จะมาในรูปของ backing track) บอกกับตัวเองว่านี่คือโอกาสที่เราจะบูชาครูเอื้อกับผู้ร่วมงานของท่านด้วยความสามารถอันจำกัดของเรา แล้วยึดเอาความภักดีเป็นที่พึ่ง
    ในวันที่อัดเสียงที่ใต้บันไดบ้านของอาจารย์ณัชชา พันธุ์เจริญ ที่ถนนพิษณุโลก อาจารย์มายืนกำกับอยู่ด้วยห่างๆ ผมพยายามไม่มองท่านว่าเป็นครูผู้ถือไม้เรียวและคอยจะกำราบเรา แต่เป็น “Muse” ที่ให้แรงดลใจได้ Sound Engineer ที่ยอดเยี่ยมเช่นคุณประทีป เจตนากูล ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในวงการคลาสสิกของไทย ผมรู้ดีว่าผมอยู่ในแวดวงของมิตร จึงไม่เกิดความกดดันมากนัก วันนั้นอัด 8 เพลงเสร็จภายในเวลา 2 ชั่วโมง สำหรับเพลง “ถึงเธอ” นั้น พอร้องจบผมก็หันไปมองอาจารย์ณัชชา ท่านไม่ได้ขอแก้อะไร เป็นอันว่า ได้เท่านี้ก็พอใจแล้ว
    หลายท่านคงจะสงสัยว่า ผมพูดถึงความเป็นอักษรศาสตร์อยู่หลายครั้ง แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการร้องเพลง ผมจำจะต้องยืนยันว่า เกี่ยว และเกี่ยวมากๆ ด้วย ถ้าไม่เข้าใจเนื้อร้อง เพียงแต่เกาะทำนอง แล้วก็หลงเสน่ห์ในเสียงของตัว ดังที่นักร้องบางคนทำอยู่ การตีความก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เราเคยไปสัมภาษณ์คุณมัณฑนา โมรากุล ท่านยืนยันว่าท่านใช้เวลากับการทำความเข้าใจกับเนื้อร้องมากทีเดียว คุณรวงทอง ทองลั่นธม ก็เช่นกัน เมื่อท่านมาทำ master class ในการสัมมนา “รวงทองส่องทางศิลป์” ท่านเน้นย้ำกับนักร้องถึงความสำคัญของการเข้าใจความหมายของเพลง ถ้าถามว่าเราตีความจากทำนองได้หรือไม่ คำตอบก็คือไว้ได้ และต้องไปให้ถึงขั้นนั้นด้วย แต่เมื่อมีเนื้อร้องที่สื่อความด้วยภาษาอยู่ เราก็จะต้องใช้สื่อทางวรรณศิลป์นี้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ความจัดเจนในทางอักษรศาสตร์เป็นประโยชน์อย่างแน่นอน
    เจตนา นาควัชระ
    14 เมษายน 2563

ความคิดเห็น • 61