แลวัวชนกีฬาพื้นบ้าน EP:1สบายใจทำไรก็ได้

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 10 เม.ย. 2020
  • ชนวัว เป็นกีฬาพื้นบ้านที่มีพื้นฐานเค้าเงื่อนเริ่มกันมานานตั้งแต่ครั้งสมัยตามพรลิงค์แล้ว เนื่องจากตอนเหนือของแหลมมลายูมีพื้นที่ราบชายฝั่งกว้างขวางมาก การเพาะปลูกทำนาจึงเป็นสังคมพื้นฐานที่สำคัญทุกหัวเมือง วัวนิยมเลี้ยงไว้เพื่อการไถนาบ้าง ลากเกวียน และบรรทุกขนส่งบ้าง เป็นสัตว์เลี้ยวพื้นบ้านที่เชื่องฝึกหัดใช้งานง่ายไม่ดุร้าย อีกประการหนึ่งวัวเป็นสัตว์เลี้ยงที่พวกพราหมณ์เคารพนับถือว่าเป็นพาหนะของพระอิศวร จึงเลี้ยงวัวเพื่ออาศัยรีดนมมาใช้ดื่มกิน ใช้ทำอาหารนมเนย ใช้ทำพิธีทางศาสนา ไขวัวเอามาทำเป็นน้ำมันจุดไฟจองเปรียง และใช้ประโยชน์ทางอื่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เช่น หนังวัวนำมาทำหนังกลอง หนังตะลุง หนังใหญ่ ภาชนะตากข้าว ทำเชือก ฯลฯ เป็นต้น
    ส่วนการนำวัวมาชนต่อสู้กัน โดยปกติวัวหนุ่มคือวัวถึกหรือวัวเหลิงมักคึกคะนองจะมีการชนกันเป็นธรรมชาติ เพื่อแย่งกันเป็นจ่าฝูง แย่งตัวเมียกัน คนพื้นเมืองเห็นเป็นการกีฬาการเล่นสนุกเมื่อยามว่างจากฤดูทำนา จึงนัดจับมาชนกัน ดูเล่นสนุกเป็นครั้งคราว การนัดชนวัวแรกเป็นการชนกันระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน สนามต่อสู้ก็เอาบริเวณกึ่งกลางระหว่างหมู่บ้าน เป็นอย่างเครื่องนันทนาการ เพื่อให้เกิดความสนุกสนานผ่อนคลายความตึงเครียด หลังจากเหน็ดเหนื่อย จากการทำนาซึ่งเป็นงานหนักมาทั้งปี ต่อมามีคนชอบมากจึงได้คิดปรับปรุงพัฒนาให้เป็นการกีฬาการเล่นสนุกประจำปีขึ้น ซึ่งก็ไม่มีโอกาสใดจะดีเท่าเมื่อถึงเวลามีงานเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ งานสารทเดือนสิบ งานทำบุญหมู่บ้าน งานทำบุญสวดทุ่ง งานไหว้ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ยิ่งภายหลังได้เริ่มขยายวงกลายเป็นกีฬาประจำถิ่นที่สำคัญไป มีการพนันขันต่อเข้ามาเสริม เมื่อชาวบ้านชาวเมืองต่างสนใจแพร่หลายไปทั่วทุกถิ่น จึงได้มีผู้คิดพัฒนารูปแบบกติกาการต่อสู้แข่งขันอย่างมีระบบรายละเอียดมากขึ้น จนเกิดเป็นศาสตร์ การคัดเลือก การเลี้ยงบำรุงพันธุ์ เกิดตำราการดูลักษณะโคกระบือ อันเป็นความรู้ที่ได้มาจากการสังเกต และประสบการณ์ โดยได้รับอิทธิพลดัดแปลงมาจากพวกพราหมณ์ชาวอินเดีย มิใช่เพิ่งได้รับอิทธิพลแบบย่างมาจากชาวยุโรป โปรตุเกสซึ่งไม่นิยมการชนวัวแต่อย่างใด เพราะลักษณะนิสัยชอบการต่อสู้กล้าได้กล้าเสีย สร้างสรรค์ประสบการณ์ชั้นเชิง และเพื่อความอยู่รอดของคนพื้นเมือง มีสืบทอดกันมาแต่โบราณแล้ว เนื่องจากพวกอาณาจักรตามพรลิงค์ต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกับพวกอาณาจักรศรีวิชัยอยู่เสมอ อีกทั้งสภาพสังคมแบบเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์และอิทธิพลสิ่งแวดล้อมช่วยชักจูงส่งเสริมให้เกิดเป็นบูรณาการทางวัฒนธรรมขึ้นด้วย
    ตามตำราดูลักษณะโค คือ ลักษณะวัวที่สำคัญมี ๓ อย่าง ได้แก่ ๑. สีหรือพันธุ์ ๒. เขา ๓. ขวัญ กล่าวคือ สีหรือพันธุ์มี ๓ อย่าง เช่น โคอุสุภราช (พาหนะพระอิศวร สีแดง) โคนิล (สีดำ) และโคบิณฑ์น้ำข้าว (สีขาวนวล) อันถือเป็นสีหลักโดยทั่วไป สีอื่นๆ เป็นลูกผสม เช่น สีน้ำตาล สีโหนด (สีลูกโตนดสุก) สีขาว สีขาวชี (สีขาวใส) สีลางสาด สีดุกด้าง สีลาย สีนิลเพชร ฯลฯ ก็ล้วนแยกออกไปจากสีแม่หรือสีหลัก
    วัวชนจะต้องมีลักษณะดังนี้ ๑. ลำตัวหนา คร่อมอกใหญ่ ๒. ช่วงขาสั้นล่ำสั้น ๓. โคนขาใหญ่แข็งแรง ปลายเขาแหลมโค้ง (ลอม) ๔. มีโหนกสูงใหญ่รูปก้อนเส้า ๕. ลำคอสั้น หน้าใหญ่เรียกคอหมู ๖. เหนียงคอยาน ๗. โคนหางใหญ่ ปลายเล็กเรียว หางเป็นพู่สวยงาม ๘. กีบตีนชิด เล็บใหญ่ เรียกเล็บพรก (กะลา) ๙. ใบหูเล็ก มีขนหูมาก เป็นต้น หรือวัวที่มีลักษณะคร่าวๆ ตามที่นักเลงวัวชนชอบพูดว่า “หู ตาเล็ก หางร่วง หัวรก หมอยดก คิ้วหนา หน้าสั้น เขาใหญ่ ลูกไข่ช้อนไปข้างหน้า” นอกจากนี้ยังมีคติความเชื่อเกี่ยวกับวัวกล่าวไว้อีกว่า “ตีนด่าง หางดก หนอกพาดผ้า หน้าใบโพธิ์” ถือเป็นวัวที่มีลักษณะดีเลิศ เป็นมงคล ใครเลี้ยงไว้จะเป็นเศรษฐีมั่งมีทรัพย์ เป็นต้น แต่คุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของวัวชนที่ดีคือ ๑. ใจมาก ๒. ทางชน ๓. ความสมบูรณ์
    กีฬาชนวัวนิยมกันมากทางนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จังหวัดใกล้เคียงก็มีทั่วไป วัวชนที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น โคโหนด โคจำปี (พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๔๗๘) โคฮัง (พ.ศ.๒๕๐๒) เป็นวัว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช อ้ายขาวลุง วัวบ้านทุ่งลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ฯลฯ โด่งดงทั่วภาคใต้
    งานเทศกาลสารทเดือนสิบ ที่นครศรีธรรมราช สนามบ้านยวนแหล ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช จะเป็นการชุมนุมวัวชนครั้งใหญ่ประจำปี มีวัวจากทั่วภาคใต้มาชนกันตลอด ๑๐ วันๆ ละ ๒ รอบ เป็นอย่างมาก มีการพนันติดปลายเขาด้วยราคาสูงต่อคู่ แต่คนพื้นเมืองจะถือคติไม่เล่นพนันชนวัวในหมู่เครือญาติเด็ดขาด
    อนึ่งสมัยก่อนในเทศกาลสงกรานต์ว่างจากทำนา มีการจัดเอาควายเปลี่ยว (ไม่ได้ตอน) มาชนกัน เป็นกีฬาที่สนุกสนานเป็นที่นิยมกันมากที่ อ.เมือง จ.ชุมพร อ.ท่าชนะ อ.ไชยา อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ประเทศเพื่อนบ้านที่ยึดเกษตรกรรมเป็นหลักมักมีกิจกรรมลักษณะคล้ายกัน เช่น เวียดนามมีประเพณีชนควายจัดแข่งขันกันใหญ่โต ควายตัวที่ชนชนะกลับต้องถูกคัดเลือกเอาไปบูชายันต์ จังหวัดชลบุรีก็มีประเพณีแข่งควายคือ นำควายมาวิ่งแข่งว่าตัวไหนจะวิ่งเร็วกว่ากัน เพราะเป็นสัตว์ที่นิยมใช้ไถนากันมาก เนื่องจากมีกำลังมากกว่าวัว ปัจจุบันพัฒนารูปแบบไปไกลกลายเป็นไฮไลต์เพื่อการท่องเที่ยวประจำเมืองไปแล้ว

ความคิดเห็น • 2

  • @thanitthat6907
    @thanitthat6907 3 ปีที่แล้ว +1

    เพิ่งเคยดูวัวชนกัน...ลุ้นหนักมากค่ะ

  • @xdcgfvdxdfdvhfcxcb1101
    @xdcgfvdxdfdvhfcxcb1101 3 ปีที่แล้ว

    So exciting!