ความผูกพันของกษัตริย์ผู้ทรงกู้ชาติ • วัดเชิงท่า จ.พระนครศรีอยุธยา

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 5 ต.ค. 2024
  • ♦ วัดเชิงท่า ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ♦
    • ชมวัดโบราณอันเป็นความผูกพันกับพระราชประวัติกษัตริย์ผู้กอบผู้ชาติไทยให้เป็นไทได้มาจนถึงทุกวันนี้ ...วัดเชิงท่า... เราขอเชิญทุกท่านรับฟังตำนานและรับชมโบราณสถานแห่งนี้ไปพร้อม ๆ กันเลยนะคะ
    ประวัติวัดเชิงท่า
    • กว่าจะมาเป็นวัดที่มีชื่อเรียกว่า “วัดเชิงท่า” วัดแห่งนี้มีประวัติที่ยาวนานและผ่านการเปลี่ยนมามากมายนับไม่ถ้วนเลยค่ะ วัดเชิงท่าเป็นวัดเก่าโบราณ ที่สันนิษฐานว่าถูกสร้างในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง
    •มีตำนานหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้คนแถบนี้ได้เล่าสืบต่อกันว่า มีเศรษฐีผู้หนึ่งสร้างเรือนหอให้แก่บุตรสาวซึ่งหนีตามชายคนรักไป และไม่เคยย้อนกลับมาหาผู้เป็นบิดาแต่อย่างใด ต่อมาบิดาผู้นี้ก็ได้ถวายเรือนหอนั้นให้แก่วัดที่ตนสร้างขึ้น จึงได้ชื่อว่า “วัดคอยท่า” จนทำให้หลวงจักรปาณีได้นำมาเป็นบทประพันธ์และปรากฎในนิราศทวารวดี
    • วัดเชิงท่าแห่งนี้ ถือเป็นวัดที่มีความผูกผันกับพระราชประวัติพระมหากษัตริย์พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี อีกทั้งยังเป็นวัดแห่งตำนานระหว่างพระเจ้าตากสิน กับ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยที่ทั้งสองพระองค์ได้ออกผนวชอีกด้วยค่ะ
    • ตำนานกล่าวว่า ครั้งแรกเมื่อครั้งยังเยาว์วัย เจ้าพระยาจักรี พ่อบุญธรรมของเด็กชายสิน ได้พาสินเข้าสำนักการศึกษากับพระอาจารย์ทองดี ทำให้ได้เรียนหนังสือขอมไทย เรียนคัมภีร์พระไตรปิฎก ต่อมาในครั้งที่สอง หลังจากที่นายสินได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เวลาล่วงเลยไปจนอายุมีอายุครบ 21 ปี จึงได้กราบถวายบังคมลาเพื่ออุปสมบท ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 เมื่อบวชแล้วท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ ต่อมานายทองด้วง หรือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้อุปสมบทที่วัดใกล้กัน ๆ คือ วัดมหาทลาย ทำให้พระภิกษุทั้ง 2 รูปได้เจอกันบ่อยครั้ง เช้าวันหนึ่งขณะพระภิกษุทั้ง 2 รูปกำลังบิณฑบาตอยู่ ก็มีซินแสชาวจีนเดินผ่านมาพบพระภิกษุสินและพระภิกษุทองด้วง โดยซินแสท่านนั้นได้กล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่าเราจะได้เห็นกษัตริย์ไทยสองพระองค์มาเดินบิณฑบาตด้วยกันอย่างนี้ แล้วซินแสก็ได้กล่าวอีกว่า ต่อไปในภาคหน้าพระคุณเจ้าทั้งสองจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ แต่พระภิกษุทั้งสองรูปกลับรู้สึกขำขัน และหาได้ใส่ใจต่อคำพูดของซินแสท่านนั้นไม่
    • ปัจจุบันสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ก็ได้กำหนดให้วัดเชิงท่าเป็นแหล่งโบราณสถานของชาติ นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2540 วัดเชิงท่าก็ได้แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลุ่มโบราณสถาน และส่วนสังฆาวาสโบราณสถานที่สำคัญ ดังที่ทุกท่านได้กำลังรับชมอยู่นั่นเองค่ะ
    ♦ ปูชนียสถานที่สำคัญ
    • ปรางค์ประธาน ลักษณะเป็นปรางค์สมัยอยุธยา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 ตั้งอยู่บนฐานไพที ฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปรางค์ประธานมียอดนพศูลทำด้วยสำริดรูปลักษณะเหมือนฝักเพกา
    • วิหาร เป็นส่วนที่เชื่อมต่อจากมุขปรางค์ไปทางทิศใต้ หน้าวิหารหันไปทางทิศใต้ ตรงสู่แม่น้ำลพบุรี ภายในวิหารยังคงความเก่าแก่ดั้งเดิมไว้ ที่หน้าต่างมีบานมูลี่ไม้หนาที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย วาดลวดลายภาพอันมีเรื่องราว
    • เจดีย์ราย บริเวณหน้าวิหารและอุโบสถมีเจดีย์หลายรูปแบบ เช่น เจดีย์เหลี่ยม เจดีย์กลม และองค์ระฆังเป็นกลีบมะเฟือง เป็นต้น เจดีย์ทรงเครื่องซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม
    • ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารสร้างใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายกับศาลาการเปรียญที่วัดกุฎีดาว พื้นและหลังคาเป็นเครื่องไม้ มุงกระเบื้องลด 3 ชั้น ส่วนที่เป็นหน้าบันแกะจำหลักด้วยลวดลายกระหนก ประกอบภาพเทพนมตรงกลาง ภายในศาลาตกแต่งด้วยภาพเขียนอันวิจิตร งดงามและทรงคุณค่ายิ่ง ผนังอาคารเองก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพสีแบบไทย ส่วนสังฆาวาส เป็นที่ตั้งของอาคารเสนาสนะ กุฏิสงฆ์ ตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันออก
    ♦ ไฮไลท์ของวัด คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังของศาลาการเปรียญโดยฝีมือครูแขและคณะ เป็นจิตรกรรมสีฝุ่น หลังจากอิ่มเอมการเยี่ยมชม โบราณสถานริมน้ำ ศาลาการเปรียญที่รังสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ โดยจรรโลงก่อสร้างให้เห็นรากเหง้าดั้งเดิม ภาพเขียนสีที่มีความงดงามตระการตา เจดีย์อันสวยงาม ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ ทำให้จิตใจปลอดโปร่งโล่งใจ ด้วยวัดนี้มีความผูกพันกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน อันเป็นวัดทรงผนวชของพระองค์ท่าน
    #วัดเชิงท่า #พระนครศรีอยุธยา #อยุธยา

ความคิดเห็น •