ตกเส้งลำปาง วงช่างแต้มบันเทิงศิลป์(ต้นฉบับ2551)

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 19 ม.ค. 2024
  • เสียงเพลง "ตกเส้งลำปาง" จากการบรรเลงของวงช่างแต้มบันเทิงศิลป์นี้ ผมจำได้ว่าทำการบันทึกเสียง กับครูรงค์(ผศ.ณรงค์ สมิทธิธรรม) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2551 หัวหน้าวง คือ อ.อำนวย มหามิตร สถานที่ ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวง เทคโนโลยีในการบันทึกเสียงตอนนั้นใช้ เครื่องบันทึกเสียงมัลติแทรค ของ ZOOM เมื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ออกไป ช่างฟ้อนบ้านเราต่างนำไปเปิดประกอบการฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน และแห่ครัวตาน ต่างๆ วันนี้มีโอกาสจึงขอนำเรื่องราวของวงดนตรีตกเส้งลำปาง มาเล่าสู่กันฟัง โดยสรุปเนื้อหามาจาก เอกสาร ท่านผศ.ณรงค์ สมิทธิธรรม(ครูรงค์) มีใจความดังนี้ วงตกเส้งลำปาง
    1. ความหมายของคำว่าตกเส้ง วงตกเส้ง เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อวงดนตรีโดยการเลียนเสียงดนตรี "ตก" คือเสียงของกลองตะหลดปด "เส้ง" คือเสียงที่เกิดจากการเรียกเลียนเสียงของสิ้งหรือฉิ่งแบบภาคเหนือบางแห่งเรียกว่าวงตกสิ้ง แต่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเหมือนคำว่า "ตกเส้ง" หลักฐานที่แสดงว่าวงตกเส้งเป็นวงดนตรีที่มีอยู่ในเมืองลำปางมานานแล้วนั้น เรียกว่า "ตดเซิง" ดังปรากฏอยู่ในค่าวเรื่องเจ้าหงษ์ผาคำ บทกวีของพญาโลมะวิสัย อาลักษณ์หลวงนครลำปาง ได้แต่งไว้เมื่อ พ.ศ.2398 ซึ่งศักดิ์ รัตนชัย (2537: 83) ได้นำมากล่าวไว้ในวารสารเพลงดนตรีเรื่อง เสียงฆ้องกลองกับครัว แต่งหย้องคนเมือง โดยมีตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการเล่นต่างๆ อันมีวงตกเซิง อยู่ในเรื่องนี้ด้วย ดังมีใจความว่า นักคูณฝูงช่างจ้อย ช่างซอเปิง
    ทังช่างฟ้อนดาบลาเชิง ก่าเกิ้ง ทังช่างซกช่างลายเจิง วิดวิ่ง ไปนัน
    ทังช่างฮ่ำช่างเซิ้ง ช่างเล่น ตกเซิง
    2. ลักษณะของวงตกเส้งวงตกเส้งประกอบด้วยเครื่องดนตรี 8 ชิ้นดังนี้
    1. กลองแอว1 ใบ (ใช้คนหาม หากมีขนาดใหญ่มากใช้วางบนล้อเข็น)
    2. กลองตะหลดปด 1 ใบ (แขวนกับกลองแอว)3. ฆ้องอุ้ย 1 ใบ 4. ฆ้องโหย่ง 1 ใบ
    5. สว่า 1 คู่6. สิ้ง 1 คู่ 7. แนน้อย 1 เลา8. แนหลวง 1 เลา
    วงดนตรีประเภทเดียวกันกับวงตกเส้งนี้ ได้มีแพร่หลายอยู่ทั่วไปในภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเรียกว่า "วงตึ่งโนง" แพร่เรียกว่า "วงกลองอืด" น่านเรียกว่า "วงสืดสึ้ง" เชียงรายและพะเยาเรียกว่า "วงอืดสึ้ง" ส่วนคำว่า วงกลองแอว วงแห่กลองแอว วงแห่กลองยาว ยังใช้เรียกกันโดยทั่วไป เนื่องจากว่ากลองแอวขนาดใหญ่ที่บรรทุกบนล้อเข็นนั้น ดูเด่นสะดุดตา ทำให้เรียกชื่อวงดนตรีตามเครื่องดนตรีไป
    นอกจากนี้ยังเรียกชื่อวงประเภทนี้ได้อีก เช่นกลุ่มชาวไทยยองที่จังหวัดลำพูนซึ่งได้พัฒนาวงตึ่งโนงที่แพร่หลายอยู่ในท้องถิ่น โดยเอากลองหลวงเข้าบรรเลงแทนกลองแอวและเรียกชื่อวงแบบนี้ว่า "วงทืดโมง" (รณชิต แม้นมาลัย,2536: 36) ชื่ออื่นที่เรียกวงดนตรีประเภทนี้ต่างออกไปอีก เช่น วงแซ่ตดตง วงแห่ วงฟ้อนเล็บ วงกลองตะหลดปด คำว่า "วงแห่" เป็นคำที่สามารถสื่อให้เป็นที่เข้าใจได้ง่าย หากมีบริบทเสริมเช่น มีการแห่กฐิน แห่ผ้าป่า แห่ครัวทาน
    3. ความเป็นมาของวงตกเส้ง
    วงตกเส้งมีประวัติและความเป็นมาอย่างไรนั้น มีข้อพิจารณาตามแนวคิดเกี่ยวกับการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม และแนวคิดทางด้านนิเวศวิทยาวัฒนธรรม กล่าวคือ
    ประการแรก วงตกเส้งเป็นวงดนตรีที่มีพัฒนาการมาจากวัฒนธรรมเดิมของท้องถิ่นในภาคเหนือตอนบนเอง ผสมผสานกับวัฒนธรรมภายนอก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดนตรีที่มากับพุทธศาสนา ผ่านทางสุโขทัยและหรือมอญ ซึ่งต้นกำเนิดนั้นมาจากลังกาที่รับเอาวัฒนธรรมดนตรีจากอินเดียอีกทีหนึ่ง
    ประการต่อมา แนวคิดทางด้านนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ของ จูเลียน สตวจ (Julian Steward, 1955 อ้างถึงใน ยศ สันตสมบัติ, 2537: 35) ที่กล่าวว่า "วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมอาจเกิดขึ้นได้หลายสาย (multilinear evolution)และแต่ละแนวย่อมมีความแตกต่างกัน ความแตกต่างกันนี้เกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี และโครงสร้างสังคมเป็นหลัก" สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า วงตกเส้งเป็นวงดนตรีพิธีกรรม อังเป็นแนวคิดของดนตรีพิธีกรรมพุทธศาสนาซึ่งเผยแพร่มาจากลังกานั้น ได้มีการปรับตัวโดยนำเอาปี่สุรไน ฉาบ กลอง ของวงปัญจดุริยะดนตรี มาผสมผสานกับวงกลองซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีของท้องถิ่นภาคเหนือตอนบนที่มีวงดนตรีใช้ประโคมแห่อยู่แล้ว โดยมีเครื่องดนตรีเช่น ฆ้องอุ้ย ฆ้องโหย่ง กลองแอว ประสมวงกับ สว่า สิ้ง เกิดเป็นวงดนตรีตกเส้ง นอกจากจะทำหน้าที่เป็นดนตรีพิธีกรรมพุทธศาสนาแบบลังกาแล้ว ยังปรับตัวไปกับโครงสร้างของสังคม คือทำหน้าที่เพิ่มขึ้นมาเป็นดนตรีประกอบการฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ประโคมงานมงคลต่างๆอีกด้วย
    4. บทเพลงที่ใช้ในวงตกเส้ง
    ดนตรีวงตกเส้งมีเพลงบรรเลงใช้อยู่ 1 เพลง เรียกกันในวงการดนตรีว่า เพลงแห่ตกเส้งหรือเพลงแห่ จากการศึกษาพบว่ายังสามารถเรียกเป็นชื่ออื่นได้อีกเช่น เพลงฟ้อนเล็บ เพลงแฟ่ครัวทาน และยังพบเพลงที่เกือบสูญหายไปแล้วอีก 1 เพลง เรียกกันในวงชาวบ้านช่างแต้มว่าเพลงแห่ดำหัว เพลงแม่คำโปน หรือแม่ดำโปน และยังเรียกได้อีกชื่อว่า ฆ้องเพลง เพลงเหล่านี้ใช้ประโคมไปกับขบวนดำหัว เรียกชื่อตามบทบาทหน้าที่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า "เพลงแห่ดำหัว"
    นอกจาก 2 เพลงดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีการนำเอาเพลงไทยมาบรรเลงกับวงตกเส้งเช่น เพลงลาวเสี่ยงเทียน(บรรเลงประกอบการฟ้อนเทียน) เพลงซอพม่า หรือพม่ารำขวาน ฯลฯ อย่างไรก็ตามเพลงที่รู้จักกันแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับกันว่าเพลงดั้งเดิมของวงตกเส้งจริงๆ ก็คือเพลงแห่ตกเส้ง ส่วนเพลงแห่ดำหัวนั้นรู้จักกันเฉพาะในเขตเมือง คือตำบลเวียงเหนือ และตำบลใกล้เคียงคือตำบลต้นธงชัยและตำบลพิชัย
    อ้างอิงข้อมูลจาก : ณรงค์ สมิทธิธรรม. ตกเส้ง : ดนตรีแห่ในวิถีชีวิตของชาวลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา แขนงวิชาวัฒนธรรมการดนตรี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล, 2541

ความคิดเห็น •