เพลง แขกลพบุรี เถา

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 6 ส.ค. 2024
  • รายการสืบสานงานบันทึกเสียงของครูประสิทธิ์ ถาวร โดยศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมดนตรี
    ( ประสิทธิ์ ถาวร ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับผลงานการบันทึกเสียงเพลงไทยเทปนี้เป็นการบรรเลงวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพลง แขกลพบุรี เถา โดยคณะสิทธิ ถาวร ขับร้องโดยครูทัศนีย์ ขุนทอง ครูสมชาย ทับพร บรรเลงระนาดเอกโดย ครูนัฐพงศ์ โสวัตร ควบคุมการบรรเลงโดย ครูประสิทธิ์ ถาวร
    เพลงแขกลพบุรีนี้ แต่โบราณมาทำนองดนตรีมีแต่เพียงอัตรา ๒ ชั้น และท่อนเดียว เป็นเพลงที่รวมอยู่ในชุดเพลงสองไม้ ซึ่งบรรเลงติดต่อในเพลงเรื่องแขกมอญ และบางโอกาสก็แยกออกมาใช้เป็นเพลงร้องประกอบการแสดงโขน ละคร
    ในอารมณ์โศกหรือเปลี่ยวเปล่าวังเวงใจ ภายหลังได้มีผู้เพิ่มเติมทำนองดนตรีขึ้นอีกท่อนหนึ่งเป็นท่อน ๒ หรือเที่ยวหลัง แต่ในทำนองร้องคงร้องเหมือนกันทั้ง ๒ ท่อน ( หรือ ๒ เที่ยว )
    ต่อมาถึงสมัยที่นิยมร้องและบรรเลงเพลงอัตรา ๓ ชั้น กันมากขึ้น ก็ได้มีครูบาอาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ นำเพลงแขกลพบุรีนี้มาแต่งขึ้นเป็น ๓ ชั้น ทั้งทางร้องและทางดนตรีหลายท่านด้วยกัน และแต่ละท่านก็ดำเนินทำนองเพลงต่างกันออกไปตามความคิดและสติปัญญา ซึ่งล้วนแต่ไพเราะน่าฟังไปคนละแบบ เนื่องจากเพลงนี้เป็นเพลงประเภทที่มีโยน ท่านผู้แต่งจึงมีทางที่จะพลิกแพลงออกไปได้มากมาย เช่น การร้องสักวาก็ได้แทรกการร้องด้นสองไม้ ทำนองเพลงแขกภาษาแขกแทรกในบางตอน ส่วนทางดนตรีก็สอดแทรกลูกล้อลูกขัด และวิธีการอื่น ๆ เข้ามาซึ่งล้วนแต่ทำให้ไพเราะน่าฟังยิ่งขึ้น แต่ทำนองดนตรีที่ใช้บรรเลงกันแพร่หลายจนปัจจุบันนี้ คือ ทางที่ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้แต่งขึ้น ในราวสมัยต้นรัชกาลที่ ๕
    ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ทำนองในอัตรา ๒ ชั้น ซึ่งเป็นของเดิมนั้น เป็นเพลงที่แสดงถึงอารมณ์อันโศกสลดหรือความวิเวกวังเวงใจ แต่เมื่อได้มาแต่งขึ้นเป็น ๓ ชั้น โดยเฉพาะทำนองของดนตรีซึ่งสอดแทรกวิธีการต่างๆ ตลอดจนลูกล้อลูกขัด อันเป็นวิชาการอย่างหนึ่งของการแต่งเพลงประเภทสองไม้ที่มีโยน จึงทำให้สำเนียงที่แสดงอารมณ์โศกและเปลี่ยวเปล่าเลือนลางไปจนแลไม่เห็นเลย ยิ่งกว่านั้นในการแต่งเป็น ๓ ชั้น ขึ้นนี้ ยังนำเพลงโสนน้อย ซึ่งเป็นเพลงชุดมโหรีโบราณมาติดต่อกับท่อน ๒( เที่ยวหลัง ) ซึ่งทำให้เพิ่มความไพเราะเพราะพริ้งขึ้นอีกเป็นอันมาก
    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ นายมนตรี ตราโมท ได้นำเอาเพลงแขกลพบุรีอัตรา ๒ ชั้น ของเดิมมาแต่งเพิ่มเติมให้ดำเนินทำนองและมีลูกล้อลูกขัดเป็นแนวเดียวกับอัตรา ๓ ชั้น ของครูช้อย สุนทรวาทิน พร้อมทั้งตัดแต่งทำนองชั้นเดียวขึ้นใหม่เพื่อบรรเลงติดต่อกันให้ครบเป็นเถา และตัดทำนองร้องตอนลงส่งให้ดนตรีรับ ให้มีทำนองเป็นแบบเดียวกันกับ ๓ ชั้น
    บทร้องเพลงแขกลพบุรี เถา ( ข้อมูลถอดเสียงจากเทปรีล )
    ๓ ชั้น
    ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นศรี
    จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี จำปีเอ๋ยสักกี่ปีจะมาพบ
    ที่มีกลิ่นก็จะคลายหายหอม จะพลอยตรอมสูญสิ้นกลิ่นตลบ
    ที่มีดอกก็จะวายระคายครบ จะเงียบเหงาเซาซบสลบไป
    ๒ ชั้น
    ต้นน้อยน้อยลูกย้อยระย้าดี ตั้งแต่นี้จะไปชมต้นไม้ใหญ่
    จะทิ้งเรือนออกไปร้างอยู่กลางไพร ยุงร่านริ้นไรจะตอมกาย
    รากไม้จะต่างหมอนนอนอนาถ ดาวดาดจะต่างไต้น่าใจหาย
    ลงบันไดใจเจียนจะขาดตาย น้ำตาหลั่งพรั่งพรายกระจายลง
    ชั้นเดียว
    ขุนแผนปลอบน้องอย่าร้องไห้ พาไปหน่อยหนึ่งจะมาส่ง
    ไปเป็นเพื่อนพี่บ้างในกลางดง ชมหงส์เหมเล่นให้เย็นใจ
    ไปเดือนหนึ่งแล้วจะพากลับ ถ้วนเดือนแล้วจะรับเจ้าไปใหม่
    จะร้องไห้ครวญคร่ำไปทำไม เขาอยู่เขาจะไร้เมื่อไรมี
    ( ฉบับพิมพ์ของหอสมุดว่า “จะเหี่ยวแห้งเซาซบสลบไป” )
    ( จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน )
    อ้างอิง
    มนตรี ตราโมท และวิเชียร กุลตัณฑ์. ( ๒๕๒๓ ). ฟังและเข้าใจเพลงไทย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม.
    สำเนียง มณีกาญจน์ และสมบัติ จำปาเงิน. ( ๒๕๓๙ ). ประชุมเพลงเถาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพมหานคร : ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด.

ความคิดเห็น • 3

  • @user-xn8yp1pd3c
    @user-xn8yp1pd3c 5 หลายเดือนก่อน +1

    สุดยอดๆๆชอบมากๆค่ะ

  • @user-xn8yp1pd3c
    @user-xn8yp1pd3c 5 หลายเดือนก่อน +1

    แสนไพเราะ กราบขอบพระคุณอาจารย์ผู้จัดทำรายการนี้ค่ะ

  • @user-xn8yp1pd3c
    @user-xn8yp1pd3c 5 หลายเดือนก่อน +1

    จัดต่อไปอีกค่ะโหมโรงทุกๆเพลงค่ะเพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทยๆของชาติคะ