Thairath TV : นโยบายปรับโครงสร้างสินค้าเกษตร 16/11/2557

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 16 พ.ย. 2014
  • นโยบายปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรที่รัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มีทั้งมาตรการเร่งด่วน ที่รัฐบาลจะยังคงอุดหนุนภาคการเกษตรในรูปแบบกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยวิธีการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนา และชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่
    จำนำยุงฉาง โดยรับสินเชื่อชะลอการขายตันละ 11,700 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 3 แสนบาท
    รับซื้อยางเข้ามาเป็นสต็อกรัฐบาล ไม่เกินครัวเรือนละ 3 แสนบาท
    และอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับชาวนาและเจ้าของสวนยาง รายละ 1 แสนบาท ไม่เกิน 15 ไร่
    ขณะที่มาตรการระยะยาว จะเน้นปรับโครงสร้างการผลิตทั้งหมด ด้วยการจัดโซนนิ่ง เริ่มจากเกษตรผู้ปลูกข้าว 3 พื้นที่ใหญ่
    กลุ่มแรก ที่นาในพื้นที่ชลประทานประมาณ 50 ล้านไร่ จะเน้นพัฒนาคุณภาพ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นกว่า
    กลุ่มที่สอง ที่นานอกพื้นที่ชลประทาน 1 ล้านไร่ ส่งเสริมเกษตรทางเลือก หรือผสมผสานปศุสัตว์ เน้นปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน
    กลุ่มที่สาม เป็นพื้นที่ชายขอบ หรือพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรรมประมาณ 7 แสนไร่ รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเปลี่ยนชนิดพืช หรือเปลี่ยนอาชีพตามความสมัครใจ พร้อมกับงบประมาณที่จะเข้าไปช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกยางอยู่ระหว่างการจัดทำโซนนิง
    สำหรับการปรับโครงสร้างให้เกษตรเปลี่ยนอาชีพ รัฐสนับสนุนโดยให้เงินช่วยเหลือ ชาวนารายย่อยที่ปลูกข้าวไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน จำนวน 1.9 ล้านครัวเรือน และเจ้าของสวนยางที่ปลูกยางไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน จำนวน 6 แสนครัวเรือน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ใช้เวลาดำเนินงาน 3 ปี
    นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดสร้างตลาดรองรับผลผลิตในพื้นที่ ด้วยการจัดตั้งตลาดนัดเกษตรกร 77 จังหวัด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าบริเวณด่านชายแดน เพื่อรองรับการเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยให้ด่านแม่สอด จังหวัดตาก เป็นศูนย์กระจายข้าวโพด ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นศูนย์กระจายมันสำปะหลัง และด่านปาร์ดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กระจายยางพารา

ความคิดเห็น •