รถจักรไอน้ำ ขบวนท่องเที่ยวอยุธยา วันคล้ายวันสถาปนารถไฟไทย

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 27 มี.ค. 2023
  • ก่อนที่จะก่อตั้งการรถไฟไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2398 สหราชอาณาจักรอังกฤษได้อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระนางวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษเข้ามาเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อาทิเช่น รถไฟจำลองย่อส่วนจากของจริงประกอบด้วย รถจักรไอน้ำและรถพ่วงครบขบวน เดินบนรางด้วยแรงไอน้ำทำนองเดียวกับรถใหญ่ที่ใช้อยู่ในเกาะอังกฤษ ซึ่งราชบรรณาการในครั้งนั้นสมเด็จพระนางวิคตอเรียทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นเครื่องดลพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงคิดสถาปนากิจการรถไฟขึ้นในราชอาณาจักรไทย แต่เนื่องจากในขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในฐานะไม่มั่นคงและมีจำนวนพลเมืองน้อย กิจการจึงต้องระงับไว้
    ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟ เพราะการใช้แต่ทางเกวียนและแม่น้ำลำคลองเป็นพื้นนั้นไม่เพียงพอแก่การบำรุงรักษาพระราชอาณาเขต ราษฎรที่อยู่ห่างไกล จึงเห็นสมควรที่จะสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศเพื่อติดต่อกับมณฑลชายแดน เพื่อสะดวกแก่การปกครอง ตรวจตราป้องกันการรุกรานเป็นการเปิดภูมิประเทศให้ประชาชนพลเมือง เข้าบุกเบิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และจะเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสารและสินค้าไปมาถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น
    ซึ่งในปี พ.ศ.2430 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และมีทางแยกตั้งแต่เมืองสระบุรี - เมืองนครราชสีมาสายหนึ่ง, จากเมืองอุตรดิตถ์ - ตำบลท่าเดื่อริมฝั่งแม่น้ำโขงสายหนึ่ง และจากเมืองเชียงใหม่ไปยังเชียงราย เชียงแสนหลวงอีกสายหนึ่ง โดยทำการสำรวจให้แล้วเสร็จเป็นตอน ๆ รวม 8 ตอน ในเวลาต่อมารัฐบาลพิจารณาเห็นว่าจุดแรกที่สมควรจะสร้างทางรถไฟเชื่อมกับเมืองหลวงของไทยก่อนอื่นคือนครราชสีมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟ สังกัดอยู่ในกระทรวงโยธาธิการ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นเสนาบดี และนาย เค. เบ็ทเก ( K. Bethge ) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟ พร้อมกันนั้นได้เปิดประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ - นครราชสีมาเป็นสายแรก ณ ที่ทำการรถไฟกรุงเทพ
    โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯถึงนครราชสีมาเป็นสายแรก มีทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 ซึ่งปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทยได้สร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์สำคัญในอดีต และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ
    จากนั้นในปี พ.ศ.2439 การก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ - นครราชสีมาได้สำเร็จบางส่วนพอที่จะเปิดการเดินรถได้ ทำให้ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพ - อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพ - อยุธยา ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2439 เป็นต้นไป
    ทั้งนี้ ในระยะแรกให้เดินขบวนรถขึ้นล่องวันละ 4 ขบวน มีสถานีรวม 9 สถานี คือ สถานีกรุงเทพ บางซื่อ หลักสี่ หลักหก คลองรังสิต เชียงราก เชียงรากน้อย บางปะอิน และกรุงเก่า ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 26 มีนาคม เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟ ซึ่งต่อมาได้เปิดการเดินรถต่อไปอีกเป็นระยะ ๆ จากอยุธยา - แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2443 การสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาได้เสร็จเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการเดินรถสายนี้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2443 รวมระยะทางจากกรุงเทพ - นครราชสีมา ทั้งสิ้น 265 กิโลเมตร
  • ยานยนต์และพาหนะ

ความคิดเห็น • 4

  • @user-ks6jm5xd7b
    @user-ks6jm5xd7b ปีที่แล้ว +2

    ภูมิใจ

  • @user-gt4mz4qo6o
    @user-gt4mz4qo6o ปีที่แล้ว +3

    ชมรถจักรไอน้ำด้วยครับ ไม่เคยนั่ง เคยเห็นพึ่งเห็นสดๆๆนี้ครับ

  • @Birdtrain
    @Birdtrain ปีที่แล้ว +3

    สวยงาม

  • @user-lm5we8gc6b
    @user-lm5we8gc6b ปีที่แล้ว

    ช่างคลาสสิก, สวยงามจริงๆ/ขอบคุณ​ ทีมงาน​ รฟท.ของไทยที่ทำให้เยาวช​นไทยรุ่นใหม่ๆยังคงไดเห็นรอยอดีตความเป็นมาของการขนส่งในยุค​โบราณ​สมัยปู่ย่าตาทวดพ่อแม่ของเรา.. 🤩🤩🇹🇭🇹🇭