มุสลิมไทยเชื้อสายจีน, มุสลิมในน่านเจ้า และมุสลิมในจีน - อ.อาลี เสือสมิง
ฝัง
- เผยแพร่เมื่อ 19 ต.ค. 2021
- ข้อมูลเพิ่มเติม #ศาสนาอิสลามในน่านเจ้า alisuasaming.o...
.
#ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ เจิ้งชงหลิ่ง จีนกลางคือ เจิ้งฉงหลิน (鄭崇林) ทายาทมหาขันทีเจิ้งเหอ (鄭和)บนแผ่นดินไทย
ถึงแม้เจิ้งเหอจะไม่มีลูก เพราะถูกตอนเป็นขันที หากแต่พี่ชาย หม่าเหวินหมิง(馬文銘) ได้ยกลูกชายหญิงของตนให้กับเจิ้งเหอ โดยยินยอมให้เปลี่ยนจากแซ่เดิมคือ หม่า(馬) มาใช้ แซ่เจิ้ง(鄭) แซ่พระราชทานของเจิ้งเหอ
.
ทายาทเจิ้งเหอในจีน ได้แบ่งเป็นสองสาย สายหนึ่งคือ เจิ้งเอินไหล (鄭恩來) บุตรชายคนโตของหม่าเหวินหมิง สมัยจักรพรรดิเสียนเฟิงและจักรพรรดิถงจื้อ สายตระกูลนี้ได้อพยพลงใต้มาตั้งรกรากที่ หมู่บ้านตงอิ๋ง(東營) เมืองยวี่ซี(玉溪市) มณฑลยูนนาน(雲南省) และสายที่สองคือ บุตรคนรองของหม่าเหวินหมิง ได้ตั้งรกรากที่นครหนานจิง (南京市) มณฑลเจียงซู(江蘇省) สำหรับสายในประเทศไทย มาจากสายของเจิ้งเอินไหล
.
เจิ้งชงหลิ่ง จีนกลางคือ เจิ้งฉงหลิน (鄭崇林) นามในศาสนาอิสลามคือ อิบรอฮีม (إبراهيم) เกิด พ.ศ.2416 ที่หมู่บ้านตงอิ๋ง(東營) เมืองยวี่ซี(玉溪市) มณฑลยูนนาน(雲南省) น้องชายของเจิ้งหย่งเซิง(鄭永生)ผู้นำตระกูลเจิ้งรุ่นที่ 15 ก่อนจะเดินทางมาประเทศไทยได้สมรสกับหญิงสาวชาวจีน มีบุตรสาว 2 คน
.
จนเมื่อพ.ศ.2448 เมื่ออายุ 32 ปี จึงได้นำกองคาราวานม้าต่าง 100 ตัว พลพรรค 10 คน เดินทางผ่านสิบสองพันนา เข้าประเทศไทยทางอำเภอแม่สาย ลงมาลำปาง ขึ้นไปลำพูน เข้าสู่เชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 สาเหตุแท้จริง มิใช่ความตั้งใจมาค้าขาย แต่เป็นแรงกดดันจากบิดามารดา ที่ปรารถนาให้บุตรชายรู้จักทำงานเป็นหลักฐาน เพราะชอบประพฤติตัวเป็นหนุ่มเจ้าสำราญ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นไพ่ ด้วยเหตุนี้จึงมิได้นำบุตรสาว 2 คนมาด้วย
.
พ.ศ.2450 ได้พบรักและได้สมรสกับนางสาว นพ ทองมาศ สาวชาวเมืองตาก
.
เจิ้งชงหลิ่ง มีความสนิทสนม เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าอุปราชเมืองนครเชียงใหม่ (ยศขณะนั้น) เมื่อยังรั้งตำแหน่งเจ้าหลวงอยู่ ถึงกับเรียกเจิ้งชงหลิ่งว่า "ต๊าวฮ่อ" (ท้าวฮ่อ) หรือ "พญาฮ่อ" และได้ประทานที่ดินประมาณ5ไร่เศษ บริเวณบ้านฮ่อให้สร้าง "เฮือนหลวง" ที่พำนักอาศัย (ปัจจุบันยังมีอยู่) เมื่อมีที่อาศัยมั่นคงแล้ว ก็รับภรรยาและบุตรชายคนโตชื่อ นายเจอ จากเมืองตากมาอยู่ด้วย วันที่ท่านจะเดินทางออกจากตากนั้น ท่านได้เลิกเหล้าเด็ดขาด โดยให้เหตุผลว่า ท่านเป็นลูกยังตัดพ่อแม่ได้ นับประสาอะไรกับการตัดเหล้า และต่อมาก็ให้คนไปรับภรรยาและบุตรสองคนจากเมืองจีน สร้างบ้านให้อยู่ที่เชียงราย ปัจจุบัน ลูกหลานบุตรสาวคนแรก ยังอยู่ที่เชียงราย ใช้นามสกุล เจนตระกูล บุตรสาวคนที่สอง ซึ่งแต่งงานกับคนยูนนาน และอพยพมาอยู่สันกำแพง เป็นต้นตระกูล ธีรสวัสดิ์
.
นอกจากเป็นพ่อค้า เจิ้งชงหลิ่งยังได้ช่วยราชการโดยเป็นนายไปรษณีย์ม้าต่าง และช่วยรับเหมาส่งวัสดุก่อสร้างและอาหารให้กรรมกรขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาน จนเมื่อทางรถไฟจากลำปางถึงเชียงใหม่ในปีพ.ศ.2464 รัฐจึงได้ขอตำแหน่งนายไปรษณีย์คืน
.
พ.ศ.2458 เจิ้งชงหลิ่งพร้อมกับบรรดาพ่อค้าจีนฮ่อในเมืองเชียงใหม่ ได้ร่วมกันสร้าง "สุเหร่าอิสลามเชียงใหม่" หรือ
"สุเหร่าบ้านฮ่อ" (回教禮拜堂) ปัจจุบันได้รื้ออาคารไม้หลังเดิมและเปลี่ยนชื่อเป็น "มัสยิดเฮดายาตุลิสลามเชียงใหม่" (王和清真寺) (مسجد بان هاو) นอกจากนี้ ท่านยังได้บริจาคเงินซื้อที่ดินแปลงใหญ่บนถนนช้างคลานเพื่อใช้เป็นสุสานฝังศพมุสลิมด้วย
.
ในช่วงที่ทางราชการได้เริ่มก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2467 ตรงกับสมัยของรัชกาลที่6 ทางราชการได้ขอรับบริจาคที่ดินเพื่อพัฒนาสนามบิน ครั้งนั้นเจิ้งชงหลิ่งได้ร่วมบริจาคที่ดินจำนวนถึง225 ไร่ 2 งานให้ทางราชการ ด้วยเหตุนี้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ "ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ" ให้กับเจิ้งชงหลิ่ง และเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ได้ประทานนามสกุลให้ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติและทายาท ว่า "วงศ์ลือเกียรติ" ตามบรรดาศักดิ์เพื่อให้เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลสืบไป
.
ภายหลังนางนพ ภรรยาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่2 มีนาคม พ.ศ.2492 แล้ว ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติก็ได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลานตระกูลวงศ์ลือเกียรติมา จนเมื่ออายุได้91ปี ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์(الحج في الإسلام) ที่นครมักกะฮ์(مكة) ประเทศซาอุดิอาระเบีย ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติได้ถึงแก่กรรมก่อนวันกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทย1วัน เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2507 และได้ทำการฝังศพท่านอย่างเรียบง่ายในทะเลทรายของนครมักกะฮ์
.
รายนามบุตรธิดา ของขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ (เจิ้งชงหลิ่ง)
.
ภรรยาจีนไม่ทราบนาม
1นางหยินหลาง (นางสุนทรี เจนตระกูล)
2นางซินหยิน (นางเจริญ ธีรสวัสดิ์)
.
ภรรยาชาวไทย นางนพ ทองมาศ
1บุตรสาวคนโต เสียชีวิตเมื่ออายุได้6เดือน
2นายเจอ วงศ์ลือเกียรติ
3นายสุขุม วงศ์ลือเกียรติ
4นางเต็มดวง วงศ์ลือเกียรติ
5นายชาญ วงศ์ลือเกียรติ
6นางวีรัจฉวี จันทน์ยิ่งยง
7นายสุรินทร์ วงศ์ลือเกียรติ
8คุณหญิงจันทร์เพ็ญ นาวีเสถียร
9นายอโณทัย วงศ์ลือเกียรติ
10นางสมบูรณ์ วงศ์ลือเกียรติ
11นางพวงเพ็ชร วงศ์ลือเกียรติ
.
Nubkao Kiatchaweephan เขียน
แหล่งอ้างอิง หนังสือ ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ : ทายาทเจิ้งเหอ ๑๐๐ปี คาราวานม้าต่างสู่เชียงใหม่
.
#มุสลิมไทยเชื้อสายจีน #มุสลิมในน่านเจ้า #เจิ้งเหอ #ขุนชวงเลียง #วงศ์ลือเกียรติ
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อสนับสนุนช่องของเรา
/ @manarah
ขอบคุณครับ