เกาะบุโหลนดอน พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาระบบไฟฟ้าออฟกริดด้วยพลังงานสะอาด (ความยาว 5 นาที)

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 7 ก.ย. 2024
  • เกาะบุโหลนดอน ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล เป็นเกาะที่อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 20 กิโลเมตร เกาะบุโหลนดอนมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 100 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการประมงและเรือนำเที่ยวขนาดเล็ก
    การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคโดยเฉพาะระบบไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีเงื่อนไขที่ต้องพิจารณามากมายร่วมกับหน่วยงาน โดยปกติแล้วครัวเรือนต่าง ๆ บนเกาะจะมีช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าที่จำกัดอยู่ที่ประมาณ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่ช่วงประมาณ 18.00-23.00 น. จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลที่เป็นทรัพย์สินส่วนกลาง โดยครัวเรือนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจะหารค่าน้ำมันรายเดือนในราคาเหมาจ่ายตามขนาดและจำนวนของเครื่องใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ราคา 300-700 บาทต่อเดือน สำหรับร้านค้าและบางครัวเรือนที่ต้องมีน้ำแข็งสำหรับใช้บริโภคและเก็บรักษาของสด จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 1,800-3,600 บาท สำหรับร้านค้า และ 600-1,200 บาท สำหรับครัวเรือน โดยยังคงต้องซื้อน้ำแข็งจากบนฝั่งอยู่ ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเฉลี่ยถึงเดือนละ 900-3,000 บาท
    องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหน่วยงานภาคี ได้แก่ กระทรวงพลังงาน และโครงการเพื่อสังคม ReCharge ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเข้าถึงระบบไฟฟ้าที่เป็นเสมือนปัจจัยขั้นพื้นฐานการดำรงชีวิต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านพลังงาน รวมถึงราคาเทคโนโลยี โดยเฉพาะแผงโซลาร์เซลล์ที่มีแนวโน้มถูกลง จึงร่วมกันพัฒนาโครงการระบบไฟฟ้าที่ยั่งยืนจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือน เพื่อขยายช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลซึ่งยังไม่มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลักเข้าถึง ให้มีไฟฟ้าใช้ในระดับที่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในชีวิตประจำวัน เช่น ไฟส่องสว่าง พัดลม โทรทัศน์ ตู้เย็น เป็นต้น รวมไปถึงการช่วยลดรายจ่ายด้านพลังงาน ซึ่งโครงการนี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการด้านพลังงาน ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 โดยมีการสำรวจสถานการณ์ด้านพลังงานและความต้องการด้านพลังงานของชุมชน เพื่อนำมากำหนดรูปแบบระบบไฟฟ้าและราคาค่าไฟฟ้ารายเดือนที่เหมาะสม โดยมีการจัดทำระบบโซลาร์โฮมไฟฟ้ากระแสตรง (DC Solar Home System) เป็นแพ็คเกจตามจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 3 แพ็คเกจ ดังนี้
    1. ระบบเล็ก (S) ราคา 160 บาทต่อเดือน ประกอบด้วย แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 35 วัตต์ พร้อมชาร์จคอนโทรเลอร์และแบตเตอรี่ หลอดไฟกลม 3 ดวง และพัดลม 1 เครื่อง
    2. ระบบกลาง (M) ราคา 300 บาทต่อเดือน ประกอบด้วย แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 50 วัตต์ พร้อมชาร์จคอนโทรเลอร์และแบตเตอรี่ หลอดไฟกลม 2 หลอด หลอดไฟยาว 1 หลอด พัดลม 1 เครื่อง และโทรทัศน์ 1 เครื่อง
    3. ระบบใหญ่ (L) ราคา 900 บาทต่อเดือน ประกอบด้วย แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 300 วัตต์ พร้อมชาร์จคอนโทรเลอร์และแบตเตอรี่ หลอดไฟกลม 2 หลอด หลอดไฟยาว 1 หลอด พัดลม 1 เครื่อง โทรทัศน์ 1 เครื่อง และตู้เย็น 1 เครื่อง
    นอกจากนี้ โครงการยังได้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าในชุมชน เพื่อดูแลรักษาระบบโซลาร์โฮม รวมถึงบริหารการเก็บค่าใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัล “Pay as You Go” ซึ่งเป็นระบบเติมเงินตามค่าไฟฟ้าที่ใช้จริง ซึ่งคล้ายกับการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะซื้อรหัสเติมเงินเพื่อปลดล็อกระบบโซลาร์โฮมให้ใช้งานในแต่ละเดือน ระบบนี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยในการบริหารจัดการภายในชุมชน และชุมชนยังรับภาระน้อยลงด้วยต้นทุนการลงทุนที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
    เกาะบุโหลนดอน นับว่าเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทยที่มีการนำระบบการเติมเงินรูปแบบนี้มาใช้ร่วมกับการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าในชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และทำให้เกิดการเข้าถึงไฟฟ้ามากขึ้น อันนำไปสู่การสร้างรายได้และอาชีพใหม่ ๆ ให้แก่ชุมชนอีกด้วย
    โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าอย่างยั่งยืนบนเกาะบุโหลนดอนนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นให้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 ขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา โดยการเปลี่ยนมาใช้ระบบโซลาร์โฮมไฟฟ้ากระแสตรงเป็นการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์มาทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล จะช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นการใช้น้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย
    โครงการนี้ได้มีการส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาวโดยการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าในชุมชน และด้วยการพัฒนาพลังงานในรูปแบบการให้บริการ (Energy as a Service) ซึ่งช่วยสร้างรายได้จากการให้บริการกับกลุ่มสมาชิก ทำให้ชุมชนบ้านเกาะบุโหลนดอนได้รับประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกาะบุโหลนดอนจึงเป็นต้นแบบสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงทางเลือกการพัฒนาระบบไฟฟ้าออฟกริด (off-grid) และการบริหารจัดการอย่างของชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบธุรกิจพลังงานสะอาด และยังนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะในระดับนโยบายเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลักเข้าถึงอย่างยั่งยืนต่อไป
    ----------------------------------------------------
    For English version, please read more at www.thai-germa...
    #บุโหลนดอน #พลังงาน #พลังงานแสงอาทิตย์ #พลังงานสะอาด #ไฟฟ้า #การเปลี่ยนผ่านพลังงาน #PayasYouGo #BulonDon #Energy #CleanEnergy #EnergyTransition #SolarEnergy #SolarHomeSystem #RuralElectrification #Offgrid #FutureEnergy #UNSDGs
    #TGCPEnergy #GIZEnergy #GIZThailand

ความคิดเห็น • 2