"แหล่งปลาโบราณภูน้ำจั้น จังหวัดกาฬสินธุ์"

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 28 ก.ย. 2024
  • "แหล่งปลาโบราณภูน้ำจั้น จังหวัดกาฬสินธุ์"
    แหล่งซากดึกดำบรรพ์ปลาโบราณภูน้ำจั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่พบปลาโบราณที่อยู่ร่วมในยุคเดียวกับไดโนเสาร์มีจำนวนมากที่สุดในไทย และมีความสมบูรณ์มากที่สุดอีกด้วย ถูกค้นพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยชาวบ้านในระแวกนั้นพบเกล็ดของสิ่งมีชีวิตลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แข็ง และมันวาว เชื่อว่าเป็นเกล็ดของพญานาค จึงนำตัวอย่างซากกว่า 200 ชิ้น ไปเก็บรักษาไว้ที่วัดป่าพุทธบุตร ภายหลังได้มีการสำรวจและศึกษาวิจัยจึงได้ทราบว่าเป็นปลาโบราณสายพันธุ์ใหม่ของโลก โดยในแหล่งที่พบมีปลาชนิดใหม่ถึง 3 ชนิด
    ลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นชั้นหินตะกอน ประกอบด้วยหินทรายแป้ง หินโคลน และหินทราย สีม่วงแดงซึ่งปกคลุมซากปลาอยู่ จัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสสิกตอนปลายถึงครีเทเชียสตอนต้น (Late Jurassic - Early Cretaceous) หรือประมาณ 150 - 140 ล้านปีก่อน จากหลักฐานทางธรณีวิทยา สามารถแปลความหมายสภาพแวดล้อมในอดีตได้ว่า เป็นบึงขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์มาก มีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จากบึงที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลับเกิดความแห้งแล้งขึ้น น้ำแห้งลงอย่างรวดเร็ว สัตว์ที่เดินหรือคลานได้พากันอพยพไปที่อื่นส่วนปลาต่าง ๆ ก็พยายามดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด โดยมุดลงไปฝังตัวอยู่ใต้โคลนก้นบึงแต่ก็ต้องตายลงทั้งหมด เพราะท้ายที่สุดแล้วน้ำได้เหือดแห้ง จนเมื่อฤดูน้ำหลากรอบใหม่ ได้พัดเอาตะกอนชุดใหม่มาปิดทับ ทำให้เก็บรักษาชั้นซากปลาเหล่านี้ไว้ได้ จนเวลาผ่านไปจึงเกิดเป็นซากดึกดำบรรพ์ และกระบวนการยกตัวของผิวโลก ทำให้โผล่ขึ้นมาบนผิวโลก ดังที่เห็นในปัจจุบัน
    (1) ไทยอิกธิส พุทธบุตรเอนซิส (Thaiichthys buddhabutrensis Cavin et al, 2003) เป็นปลากระดูกแข็ง เดิมจัดให้อยู่ในสกุล Lepidotes (Agassiz, 1832) เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกับปลาในสกุลนี้ ต่อมาภายหลังได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่ามีลักษณะที่แตกต่างออกไป จึงจัดให้อยู่ในสกุล Thaiichthys (Cavin, Deesri and Suteethorn, 2013) ซึ่งจัดเป็นสกุลใหม่ของโลก เป็นปลากินพืชเป็นอาหาร มีความยาวประมาณ 40 - 50 ซม. ลักษณะมีเกล็ดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แข็งและมันวาว พบตัวอย่างเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์ทั้งตัว
    (2) อิสานอิกธิส พาลัสทริส (Isanichthys palustris Cavin and Suteethorn, 2006) เป็นปลากระดูกแข็งขนาดใหญ่ สกุลใหม่ และชนิดใหม่ของโลก กินเนื้อเป็นอาหาร มีความยาวมากกว่า 90 ซม. ลักษณะมีลำตัวที่เรียวยาว คล้ายปลาช่อน มีฟันที่แหลมคมอย่างเห็นได้ชัด พบตัวอย่างเพียงตัวเดียวในแหล่งนี้
    (3) เฟอร์กาโนเซอราโตดัส มาร์ตินิ (Ferganoceratodus matini Cavin et al, 2007) เป็นปลาในกลุ่มปลาปอด มีวิวัฒนาการเปลี่ยนอวัยวะหายใจจากถุงลมไปเป็นปอด กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร ลักษณะมีครีปเนื้อ ยื่นออกมาคล้ายขา มีความยาวมากกว่า 60 ซม. ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr. Michel Martin ผู้สนับสนุนงานศึกษาวิจัยปลาปอด
    ปัจจุบันภูน้ำจั้น ได้รับการคุ้มครองเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 เมื่อปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันกำลังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยว มีอาคารจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ รวมทั้งจัดแสดงตัวอย่างที่พบในแหล่งอีกด้วย
    แหล่งข้อมูล : (1) กรมทรัพยากรธรณี

ความคิดเห็น •