มโนราห์โรงครู

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 20 ก.ย. 2024
  • โนราโรงครู เป็นการแสดงเชิงพิธีกรรมที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ เพื่อเป็นการเคารพบูชาและแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อแก้บนหรือแก้เหฺมฺรยและเพื่อทำพิธีครอบครูโนราและรักษาโรคต่าง ๆ
    การแสดงโนราโรงครู มี 2 ประเภท คือ 1) การแสดงโนราโรงครูใหญ่ เป็นการแสดงโนราโรงครูสมบูรณ์แบบถูกต้องครบถ้วนตามประเพณีและนิยมแสดงโดยทั่วไปใช้เวลา 3 วัน 2 คืน 2) การแสดงโนราโรงครูเล็กหรือโรงคํ้าครู เป็นการแสดงเพื่อยืนยันว่าจะมีการจัดโรงครูใหญ่อย่างแน่นอน ใช้เวลาแสดง 1 วัน 1 คืน การแสดงโนราโรงครูซึ่งจัดโดยทั่วไป เริ่มในเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน เริ่มพิธีในวันพุธถึงวันศุกร์ การแสดงโนราโรงครูมีองค์ประกอบและรูปแบบการแสดงโนราสมบูรณ์ครบถ้วนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรำ การร้อง การแสดงเป็นเรื่องและการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรม
    องค์ประกอบและรูปแบบในการแสดงโนราโรงครู ประกอบด้วย การรำ มีรูปแบบการรำพื้นฐาน การรำขั้นสูงและการรำประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ รำสิบสองท่า รำสิบสองบท รำคล้องหงส์และแทงเข้ การร้องใช้รูปแบบการร้องรับของผู้รำและนักดนตรี คือ การร้องรับไม่ใช้ท่ารำ การร้องรับประกอบท่ารำ ได้แก่ ร้องรับบทกาดครู ร้องรับประกอบการรำทุกประเภท การแสดงเป็นเรื่อง เป็นรูปแบบของการแสดงละครจากวรรณกรรมพื้นบ้านเฉพาะตอนสำคัญต่อเนื่องกัน 12 เรื่อง และเลือกเรื่องมาแสดงเต็มรูปแบบของพิธีกรรมอีก 2 เรื่องเพื่อสร้างความศรัทธาในพิธีกรรมให้มากยิ่งขึ้น การบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรม มีรูปแบบของจังหวะที่ใช้ประกอบพิธีกรรมแต่ละขั้นตอนโดยเฉพาะ ได้แก่ การเซ่นของสังเวยและประทับทรงใช้เพลงเชิด การเชิญวิญญาณใช้จังหวะเชิญตายาย การร่ายรำประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ใช้เพลงโค
    ปัจจุบันโนราโรงครูยังคงมีการสืบสานอย่างเคร่งครัดในหลายจังหวัด เช่น สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง เป็นต้น โดยเฉพาะในกลุ่มคณะมโนราห์ยังประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู รักษาจารีตขนบธรรมเนียมการแสดงและพิธีกรรมอย่างต่อเนื่อง
    โนราโรงครู ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2555

ความคิดเห็น •