บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้ง 2539

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 15 เม.ย. 2021
  • ยุบสภา จุดเริ่มต้น เลือกตั้ง
    27 ก.ย. 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคชาติไทย ตัดสินใจประกาศยุบสภา ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่แกนนําคนสําคัญของพรรค เนื่องจาก นายบรรหาร หัวหน้าพรรคไม่ได้ปรึกษาและบอกกล่าวแก่สมาชิกพรรคให้ทราบล่วงหน้า
    เหตุการณ์นี้ทําให้แกนนําสําคัญของพรรคที่เป็นฐานสนับสนุนให้นายบรรหารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมมือกันกดดันให้นายบรรหารลาออกจากตําแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย แต่ไม่ประสบความสําเร็จ
    บรรดาแกนนําดังกล่าวจึงนําลูกทีมย้ายพรรค โดยกลุ่มของนายเสนาะ เทียนทอง เข้าพรรคความหวังใหม่ และได้รับความไว้วางใจให้เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนกลุ่มปากน้ําของนายวัฒนา อัศวเหม เข้าพรรคประชากรไทย และกลุ่มเทิดไทของนายเนวิน ชิดชอบ ใน จ.บุรีรัมย์ เข้าพรรคเอกภาพ
    มหกรรมย้ายพรรค
    ส.ส.พรรคชาติไทยคนหนึ่งกล่าวว่า หากนายเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคชาติไทย เข้าร่วมกับ พรรคความหวังใหม่ ก็คาดว่าจะมีอดีต ส.ส.พรรคชาติไทยไม่ต่ำกว่า 40-50 คน ย้ายพรรคตามนายเสนาะ
    29 ก.ย.2539 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีอดีต ส.ส.ย้ายเข้าพรรคจํานวนมากว่า ยินดีที่จะทํางานร่วมกัน แต่ต้องดูว่ามีอุดมการณ์เหมือนกันหรือไม่ และประกาศเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยให้เหตุผลว่า เพราะในอดีตเคยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์มีลีลาที่ยึดหลักการและทํางานช้า ครั้งนี้น่าจะมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคความหวังใหม่บ้าง
    1 ต.ค.2539 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เข้าพบ นายเสนาะ เทียนทอง ที่บ้านพักในหมู่บ้านเมืองทองธานี ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อร่วมกันแถลงข่าวการลาออกจากพรรคชาติไทย และการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคความหวังใหม่ โดยได้รับตําแหน่งเลขาธิการพรรค
    ขณะที่พรรคการเมืองเก่าแก่มาแรงอีกพรรคก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมี นายชวน หลีกภัย นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
    20 ต.ค. 2539 นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตําหนิวิธีการหาเสียงของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ที่ชูประเด็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากคนภาคอีสานว่า เป็นการปลุกม็อบ ถือเป็นการกระทําที่ไม่สมควร
    ว่าที่ นายกฯ ดีเบตมันส์
    25 ต.ค.2539 หอประชุมกิตติขจร กองทัพบกจัดการโต้วาทีหรือการดีเบตว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 22 โดยเชิญ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา มีการยืนตอบคําถามบนโพเดียมลักษณะคล้ายๆ กับการโต้วาทีชิงตําแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
    โดยหัวข้อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถูกนํามาเป็นประเด็นแรกในการโต้วาที หลังการโต้วาทีจบลง ปรากฏว่าบรรดานายธนาคารมีเสียงเป็นเอกฉันท์ชื่นชอบทีมงานเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด แต่ก็ไม่ชอบที่นายชวน หลีกภัย เป็นคนตัดสินใจล่าช้า ในขณะที่การดีเบตครั้งนี้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีจุดด้อยทั้งตัวเองและทีมงานเศรษฐกิจ
    โหรฯ ทาย ใครได้เป็นนายกฯ คนต่อไป
    1 พ.ย. 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ไปปราศรัยที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และนมัสการหลวงพ่อคูณ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ โดยหลวงพ่อคูณแนะนําให้นายบรรหารเลิกเล่นการเมือง และหากยังเล่นอยู่ก็ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ธรรมดา
    5 พ.ย. 2539 สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ ทํานายดวงว่าที่นายกรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่, นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ซึ่งผลปรากฏว่า โหรทั้งหมดทํานายว่าคนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
    นาทีต่อนาที ลุ้นผลเลือกตั้งสุดระทึก
    17 พ.ย.2539 วันเลือกตั้งสุดระทึก ณ เวลานั้น ผู้สื่อข่าวได้มีการรายงานจาก จ.ตรังว่า เวลา 20.45 น. หลังจากที่นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เก็บตัวอยู่ภายในห้องพักตามลำพัง เพื่อติดตามผลการนับคะแนนเลือกตั้ง
    หลังจากนั้น ได้ลงมาแถลงข่าวจากที่ได้รับผลการเลือกตั้งในเวลา 21.00 น. โดยที่พรรคความหวังใหม่ มีคะแนนนำอยู่ 124 ต่อ 122 ซึ่งนายชวน คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์แพ้แล้ว พร้อมกับกล่าวว่า แพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดา ผลออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ
    เมื่อแถลงข่าวได้สักพัก นายชวนได้หันไปมองทีวีจอยักษ์ และมีสีหน้าดีขึ้น เพราะผลคะแนนขยับเป็น 124 ต่อ 123 แต่ไม่ถึง 15 นาที ประชาชนที่เกาะติดอยู่ด้วยนั้นได้ลุกขึ้นไชโยให้กับนายชวน เพราะผลคะแนนได้ตีตื้นขึ้นมาเป็น 124 ต่อ 124 ซึ่งสร้างความชุลมุนพอสมควร และเป็นเหตุให้ นายชวน ไม่สามารถแถลงข่าวต่อไปได้
    เลือกตั้งปี 39 คะแนนฉิวเฉียด ห่างกันแค่ 2 แต้ม
    แต่นาทีสุดท้าย เมื่อการนับคะแนนเสร็จสิ้น ผลปรากฏออกมาว่า พรรคความหวังใหม่ที่เพิ่งลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ประสบความสำเร็จ สามารถเฉือนเอาชนะ พรรคประชาธิปัตย์ ไปได้ 2 เสียง ด้วยคะแนน 125 ต่อ 123 (ไม่ใช่ 124 เหมือนที่รายงานในทีวี) ทำให้พรรคความหวังใหม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของประเทศไทย
    โดยการเลือกตั้งในครั้งดังกล่าว มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 24,070,750 คน จากจํานวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 38,564,593 คน คิดเป็นร้อยละ 62.42 บัตรเสีย 632,502 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.63 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  • กีฬา

ความคิดเห็น • 2

  • @trinolone
    @trinolone 2 ปีที่แล้ว +2

    ภาพชัดมากๆ คับ บรรยากาศนึกถึงตอนเด็กเลย รถรา บ้านช่อง

  • @chanonkonkaew3534
    @chanonkonkaew3534 2 ปีที่แล้ว +2

    คลิปหาเสียงในนี้ เป็นการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2539 ที่ผู้ชนะการเลือกตั้ง คือ พรรคความหวังใหม่ โดยชนะพรรคประชาธิปัตย์เพียงแค่ไม่กี่เสียง
    -0:00 พรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรค คือ นายชวน หลีกภัย ณ ตอนนั้น มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เห็นชัดเจน คือ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ทำให้สามารถคาดเดาได้ว่า การหาเสียงเลือกตั้งที่เห็นอยู่นี้ เป็นการหาเสียงเลือกตั้งในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่หลัก ของ นายชวน หลีกภัย กับ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อยู่แล้ว
    -0:47 พรรคความหวังใหม่ หัวหน้าพรรค คือ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่ง ณ ตอนนั้น พลเอกชวลิตลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดนครพนม โดยภาพหาการหาเสียงที่เห็นอยู่นี้ น่าจะเป็นการหาเสียงที่จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากมีชื่อ ของ นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร ของ พรรคความหวังใหม่ เจ้าของพื้นที่ ณ ตอนนั้น เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในสมัยนี้
    -1:19 พรรคชาติไทย หัวหน้าพรรค คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ แม้จะยุบสภาแล้ว ซึ่งคาดว่าการหาเสียงที่เห็นนี้ เป็นการหาเสียงที่จังหวัดชลบุรี โดยผมเห็นจุดสังเกตที่ป้ายหาเสียงบนเวทีมีชื่อ ของ นายสนธยา คุณปลื้ม ทายาท ของ กำนันเป๊าะ นายสมชาย คุณปลื้ม และเป็น ส.ส.ชลบุรี ณ ตอนนั้น
    -2:03 พรรคชาติพัฒนา หัวหน้าพรรค คือ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อสังเกตแล้ว พอเดาได้ว่าเป็นการหาเสียงที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ซึ่งของพรรคชาติพัฒนาโดยตรง โดยสังเกตที่ป้ายหาเสียงของประชาชนที่มาฟังปราศรัย มีชื่อผู้สมัครหนึ่งในนั้นคือ นายจำลอง ครุฑขุนทด หนึ่งในลูกหม้อของพรรคนี้