แข่งเรือบก วัดเนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 29 ก.ย. 2023
  • ชาวตำบลเนินกุ่มและ ตำบลวัดตายม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ร่วมสืบสานประเพณีแข่งขันเรือบก หนึ่งเดียวในประเทศไทย เพื่อสร้างความรักความสามัคคีกันภายในชุมชน ด้านกระทรวงวัฒนธรรมประกาศขึ้นบัญชี เรือบก เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
    วันที่ 24 กันยายน 2566 ที่วัดเนินกุ่ม หมู่ 4 ตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ชาวบ้าน ครู นักเรียน ตำบลเนินกุ่ม และตำบลวัดตายม ร่วมกันจัดงานประเพณีเดือนสิบ "ปิดทองหลวงพ่อปั้น แข่งเรือบก ลิ้มรสข้าวเม่าทอด" เพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาของประเพณี และเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ทราบถึงความศรัทธรา ต่อพระครูสังคกิจหรือ หลวงพ่อปั้น ทุกๆเดือนสิบชาวบ้านจะเดินทางมากราบไหว้ขอพรปิดทองหลวงพ่อปั้น บริเวณวิหารหลวงพ่อปั้น โดยมีนายวาธิต ปัญญาคม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก มาเป็นประธานเปิดงาน
    และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มอบเกียรติบัตร ในโอกาสประกาศขึ้นบัญชี มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ.2565 ให้แก่ ชุมชนบ้านเนินกุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ได้อนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบวานมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรม รายการ เรือบก โดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
    ส่วนบรรยากาศที่สนามแข่งขันเรือบก ด้านข้างโบสถ์วัดเนินกุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้ร่วมชมการแข่งขันเรือบกกับพี่น้องประชาชนชาวบ้าน ที่ยังคงจับจองสถานที่เพื่อร่วมชมประเพณีการแข่งขันเรือบก แห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีและเป็นสีสันสร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้าน มายาวนานมา 60 กว่าปี แล้ว ในปีนี้ชาวอำเภอบางกระทุ่มได้ส่งทีมเรือบกเข้าร่วมแข่งขันมากถึง 56 ทีม เพื่อร่วมสนุกกับกิจกรรมการละเล่นประจำปีในครั้งนี้ บรรยากาศการแข่งขันปีนี้สนุกสนานเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านพากันมาร่วมชมและเชียร์กันอย่างสนุกสนาน
    ส่วนประวัติความเป็นมา นายณรงค์ จันทร์ชาวนา ประธานสภาเทศบาลตำบลเนินกุ่ม เปิดเผยว่า การแข่งขันเรือบก เดิมทีตำบลเนินกุ่มได้จัดให้มีการแข่งขันเรือยาวในแม่น้ำ ด้านหลังวัด แต่มาระยะหลังสภาพ ลำคลองตื้นเขิน บางปีน้ำแล้งแห้งขอด ไม่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันเรือยาว จึงเปลี่ยนเป็นการแข่งขันเรือบกแทน เมื่อปีพ.ศ.2500
    รูปแบบของการการแข่งขันเรือบก วัดเนินกุ่ม ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะใช้ไม้ไผ่ขนาด 8 เมตรแทนเรือยาว จะใช้ฝีเท้าแทนฝีพายจำนวน 9 คน ส่วนร่องน้ำเรือยาวก็จะใช้ ลู่เลนดินโคลนเรือบกความยาวประมาณ 100 เมตร ที่เต็มไปด้วยดินโคลนชุ่มน้ำแทน ส่วนกติกาการแข่งขันกันจะแบ่งเป็นฝั่ง แดงและน้ำเงิน เรือบกที่จะเข้ารอบ ต้องชนะ 2 เที่ยวใน 3 เที่ยวซึ่งเป็น กติกาเดียวกับการแข่ง ขันเรือยาวทั่วไป ซึ่งความสนุกสนานในการแข่งขันเรือบก อยู่ที่ผู้แข่งขันเรือบกในแต่ละลำจะต้องวิ่งลุยโคลนโดยพร้อมเพียงกัน ซึ่งถ้าผู้เข้าแข่งขันคนใดเสียจังหวะ หรือไม่พร้อม กับคนอื่น ๆ เรือบกก็จะพากันล้ม ลงคลุกโคลนตม และเล่นแกล้งพากันล้มนอนเล่นในโคลนกันอย่างสนุกสนาน การแข่งขันเรือบอกทำให้ทุกคนได้เห็นว่าบางครั้ง การเป็นผู้นำก็ไม่แน่ว่าจะชนะหรือสำเร็จทุกครั้งไป นอกจากนั้นถึงแม้ว่าบางทีมจะไม่พร้อมมาแข่ง แต่ทีมชนะบายก็ต้องลงสนามเพื่อให้ได้ใช้กำลังเป็นการออมกำลังเพื่แจะต้องมาแข่งกับทีมอื่นต่อไป
    ภายในงานชาวบ้านผู้เคารพศรัทธรา พระครูสังคกิจ หรือหลวงพ่อปั้น ได้มาร่วมกราบไหว้สักการะภหลวงพ่อปั้น เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว หลวงพ่อปั้น ในอดีตเป็น เจ้าอาวาสและสร้างวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2406 ปัจจุบันวัดเนินกุ่มเป็นศูนย์รวมจิตใจของตำบลเนินกุ่ม มีกิจกรรมงานบุญหรือสาธารภัยทุกครั้งชาวบ้านก็วัดเนินกุ่มเป็นศูนย์กลางเพื่อระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ
    และในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ปราชญ์ชาวบ้านตำบลเนินกุ่ม ผู้มีภูมิปัญญามีความสามารถทำขนมข้าวเม่ามอดในขั้นตอนต่างๆ ก็ได้มาออกแรงร่วมกันทำข้าวเม่าทอดทุกขั้นตอน เพื่อจำหน่ายให้กับชาวบ้านโดยทั่วไป ที่ต้องการจะร่วมทำบุญทอดกฐินรายได้ให้แก่วัดทั้งหมด ซึ่งมีกำหนดการทำข้าวเม่าทอดเป็นเวลา10วัน10คืนเท่านั้น พบว่าสามารถจำหน่ายได้ระหว่าง 30,000 ถึง 50,000 บาท บาท ส่วนบรรยากาศการรอเข้าคิวเพื่อซื้อข้าวเม่าทอดถึงแม้ว่าจะต้องเข้าแถวรอคิวและต้องจำกัดจำนวนซื้อข้าวเม่าทอดให้คนละไม่เกิน 10 แพ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ยินดีรอเพราะมีความเชื่อถือว่าข้าวเม่าทอดที่เกิดความรักความสามัคคีของชาวบ้าน เป็นของดี มีคุณ ทุกๆปีจะต้องนำข้าวเม่าทอดไปให้บุคคลคนในครอบครัวได้รับประทานเพื่อเป็นสิริมงคล และช่วยบันดาลให้เกิดความรักสามัคคีกันในหมู่ครอบครัว
    สำหรับผู้สนใจสามารถเดินทางมาท่องเที่ยว ชมประเพณีการแข่งขันเรือบก และมาเที่ยวงานบุญเดือนสิบ ได้ทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี
    พิษณุโลก/ชนกพงศ์ คล้ายขำ/0835654459

ความคิดเห็น •