การแสดงสร้างสรรค์ชุด พระรามตามกวาง ฉบับพื้นบ้านภาคใต้
ฝัง
- เผยแพร่เมื่อ 5 ก.พ. 2025
- ชื่อผลงาน พระรามตามกวาง ฉบับพื้นบ้านภาคใต้
ผู้สร้างสรรค์ ประจักษ์ ไม้เจริญ, สมชาย พูลพิพัฒน์, ธีรตา นุ่มเจริญ
รินทร์ลภัส ชินวุฒิกุลกาญจน์ และพรรณพัชร์ วิชาสวัสดิ์
สาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
แนวคิดในการสร้างสรรค์งาน
รามเกียรติ์ฉบับวัดควนเกยเป็นสมุดข่อย เรียกกันว่า หนังสือบุดขาว มีเนื้อเรื่องตอนต้นและตอนท้ายขาดหายไปและมีข้อความที่เลือนหายไปบ้างไม่สามารถอ่านได้จึงทำให้รามเกียรติ์ที่วัดควนเกยฉบับนี้ไม่สมบูรณ์ แต่งเพื่อใช้สำหรับการแสดงเท่านั้น และไม่ปรากฎชื่อของผู้แต่ง เนื้อเรื่องไปสอดคล้องกับเรื่องรามเกียรติ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 อาจจะมีที่แตกต่างกันออกไปบ้างเช่น ชื่อของตัวละคร และเหตุการณ์บางอย่างที่ผิดเพี้ยนกันไป ผู้สร้างสรรค์จึงได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามตามกวาง ฉบับวัดควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช นำมาสร้างสรรค์ผลงานชุด พระรามตามกวาง ฉบับพื้นบ้านภาคใต้ เพื่อให้เห็นการคุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้านและการแพร่กระจายของเรื่องรามเกียรติ์ในท้องถิ่นของภาคใต้
รูปแบบการแสดง
การแสดงชุด พระรามตามกวาง ฉบับพื้นบ้านภาคใต้
ช่วงที่ 1 ท่องโรง นำเสนอความงามของพระรามออกตามหากวางทอง
ช่วงที่ 2 ฝูงกวางออกจับระบำ นำเสนอกิริยาท่าทางของกวางทองและกวางน้อยทั้ง 4 ตัว
ช่วงที่ 3 พระรามตามกวางทอง นำเสนอลีลาการตามจับกวางทอง
องค์ประกอบในการแสดง
ท่ารำ การสร้างสรรค์นำท่ารำจากแม่บทโนรา ท่าเฆี่ยนพรายและท่าทางตามธรรมชาติ
มาเป็นแม่ท่าใน การสร้างสรรค์ท่ารำ จำนวนทั้งหมด 84 ท่า
ผู้แสดง ทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วยพระราม กวางทอง และระบำกวาง 4 คน
เครื่องแต่งกาย ยึดหลักการแต่งกายแบบยืนเครื่องโนรา พระรามแต่งกายยืนเครื่องโนรา กวางทองแต่งกายยืนเครื่องโนราสวมเทริดที่มีเขากวางอยู่บนเทริด กวางน้อยแต่งกายยืนเครื่องโนราสวมศีรษะกวาง
เพลงหรือดนตรี บทร้องร้องด้วยเพลงบอกซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านภาคใต้ บรรเลงเพลงช้าและเพลงเร็ว ตามแบบฉบับของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ ผสมผสานดนตรีสากลวงออเคสตร้า