จัดทำลวดลายอัตลักษณ์จังหวัดเชียงราย Chiang Rai Monogram
ฝัง
- เผยแพร่เมื่อ 9 ก.พ. 2025
- เครือข่ายท่องเที่ยวเชียงรายร่วมภาคเอกชนระดมความคิด
จัดทำลวดลายอัตลักษณ์จังหวัดเชียงราย Chiang Rai Monogram
ผู้ว่าฯเชียงรายเห็นชอบ “รองนรศักดิ์” รับดันเข้าพิจารณาใน กรอ.
เตรียมเปิดให้ประชาชนนำไปใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ไม่มีลิขสิทธิ์
***เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 30 มกราคม 2567 ที่โรงแรมแสน อ.เมืองเชียงราย นายนรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมการพิจารณาจัดทำลวดลายอัตลักษณ์เชียงรายลงบนตัวอักษร Chiang Rai Monogram โดยนำเอาอัตตลักษณ์สำคัญของจังหวัดเชียงราย เช่น สถานที่ท่องเที่ยว งานศิลปวัฒนธรรม สินค้าชุมชน ฯลฯ มาจัดทำเป็นลวดลายในตัวอักษรเพื่อให้เกิดการจดจำของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป โดยมีนางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ (สสทน.) นำเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย 7 สมาคม 10 ชมรม พร้อมภาคเอกชนได้แก่ หอการค้าจังหวัดเชียงราย กลุ่ม YEC หอการค้าเชียงราย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย กลุ่มชาติพันธ์จังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมระดมความคิดพิจารณาร่างต้นแบบที่ได้นำเสนอนายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พิจารณาอนุมัติแล้ว เพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการราชการและภาคเอกชน (กรอ.) เพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์
***ดร.เอกภพ ช่างแก้ว อุปนายก สสทน.เชียงราย และครีเอทีฟดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบลวดลาย กล่าวในที่ประชุมว่า นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีดำริกับคณะกรรมการ สสทน.เชียงรายที่จะจัดทำลวดลายอัตลักษณ์เชียงรายลงบนตัวอักษร ที่เรียกว่า Monogram เหมือนอย่างสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการจัดทำ Monogram เป็นรูปลายแมวโคราช ซึ่งเป็นอัตตลักษณ์ที่คนเห็นก็จดจำได้ว่าเป็นของจังหวัดนครราชสีมา นายชรินทร์ได้มอบหมายให้ตนและทีมงานสสทน.เชียงรายลองออกแบบมาให้พิจารณา ซึ่งการออกแบบต้องใช้หลักวิชาการในการออกแบบ และดูรูปแบบลวดลายจากประเทศต่างๆและเมืองต่างๆทั่วโลก (City Brand) มาเป็นแนวในการออกแบบเพื่อให้เป็นสากล
***ดร.เอกภพ ช่างแก้ว กล่าวรายละเอียดของสวดสายว่า สืบเนื่องจากการพัฒนาแบรนด์จังหวัดเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาเป็นแบรนด์ “น้องกอดอุ่น” ต่อมาก็มีแบรนด์ “ฮักเจียงฮาย” และแบรนด์ “บลูมมิ่งเชียงราย” ได้มีการพัฒนามาโดยตลอดโดยใช้หลักวิชาการค้นหา DNA ของเมือง มาพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องแบรนด์ เช่นแบรนด์น้องกอดอุ่นพัฒนามาจากภูเขาที่มีความสมบูรณ์จึงเป็นสีเขียว มีผมเป็นก้อนเมฆสีขาว เป็นต้น สำหรับการพัฒนาตัวอักษร Monogram ได้นำอัตตลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดเชียงรายมาดีไซน์ออกแบบให้เข้าใจง่ายรวมทั้งการใช้สีลงในตัวอักษรภาษาอังกฤษ CHIANGRAI
***โดยตัวอักษร C เป็นลวดลายขุนเขาสายน้ำ H เป็นตุงคู่ศิลปินแห่งชาติที่หน้าสวนตุงและใบชา I เป็นหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ A เป็นบ้านดำซ้อนด้วยวัดร่องขุ่น N เป็นลายผ้าชาติพันธ์ G เป็นเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ R เป็นดอกไม้งามซึ่งผวจ.เชียงรายขอให้ใส่ดอกกาสะลองคำดอกไม้ประจจังหวัดเชียงรายเข้าไปด้วย A เป็นป้ายประตูชมวิวที่สามเหลี่ยมทองคำ I เป็นปฏิมากรรม “ความต่อเนื่อง” ที่สวนสมเด็จย่าดอยตุง
***ดร.เอกภพ ช่างแก้ว กล่าวอีกว่า เหตุที่ไม่ใช้รูปพ่อขุนหรือรูภาพทางศาสนาเลยด้วยเกรงจะมีผู้นำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมจะทำให้คุณค่าของงานลดลง และคณะทีมงานยังจะให้ประชาชนนำ Monogram ดังกล่าวไปใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงรายให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวจดจำและนึกถึงจังหวัดเชียงรายได้ทันที
***นายนรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตามดำริของนายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อยากให้ภาคราชการและภาคประชาชนร่วมคิดสิ่งที่จะเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงรายที่จะทำให้คนจำได้คิดถึงได้ การจะให้ราชการทำเองแล้วเอาไปใช้อาจจะไม่ยั่งยืน จึงให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยคิดช่วยทำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีคุณค่า ซึ่งจะได้นำแนวคิดนี้ไปประชุมร่วมในการประชุมคณะกรรมการราชการและภาคเอกชน (กรอ.) ต่อไป ซึ่งตนได้มีการพูดคุยกับทางพาณิชย์จังหวัดให้ผู้ประกอบการในโครงการของพาณิชย์จังหวัดได้สนับสนุนการนำไปใช้ในสินค้าต่างของจังหวัดเชียงรายด้วย
///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์