สารคดี พิษณุโลก แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 5 ก.ย. 2021
  • พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา
    พิษณุโลก เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยมีปรากฏตามหลักฐานในศิลาจารึกสุโขทัย สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 สมัยขอมเรืองอำนาจ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่าเมืองสองแคว เนื่องจากเป็นเมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่าน สองสาย คือ แม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย
    ในสมัยก่อนกรุงสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาว ได้อพยพผู้คนมาอยู่ที่เมืองบาง หรือ อ.นครไทยในปัจจุบัน ได้สู้รบขับไล่เจ้าถิ่นเดิมจนมีชัยชนะ อีกทั้ง ได้ร่วมกันกับพ่อขุนผาเมือง ขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง จากเมืองศรีสัชนาลัย และเฉลิมพระนามพ่อขุนบางกลางหาว เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทุกปี ชาวนครไทย กำหนดจัดงานประเพณีปักธงชัยเทือกเขาช้างลวง เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของพ่อขุนบางกลางหาว ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างบ้านแปลงเมืองให้ลูกหลานไทยสืบมา
    ครั้งสมเด็จพระธรรมราชาลิไท ได้โปรดเกล้าฯให้ย้ายเมืองสองแควมาตั้งอยู่ ณ ปัจจุบัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพิษณุโลก ในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งเสด็จมาปกครองเมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปี 2006 มีฐานะเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยานานถึง 25 ปี ต่อมากลายเป็นเมืองลูกหลวง กษัตริย์ผู้ครองเมือง ได้แก่ สมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทยที่ทรงมีพระราชสมภพ ณ เมืองสองแคว หรือ พิษณุโลก แห่งนี้
    ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พิษณุโลก ยังคงเป็นเมืองเอกขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ครั้นปี พ.ศ.2473 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นมณฑล และเปลี่ยนมาเป็นจังหวัด สืบมาถึงปัจจุบัน
    พิษณุโลก เป็นเมืองสำคัญหลักของภาคเหนือตอนล่าง เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการที่สำคัญทั้งด้านปกครอง ด้านตุลาการ ทหาร ตำรวจ และ สื่อมวลชน มีแม่น้ำสายหลักคือ แม่น้ำน่าน และแม่น้ำแควน้อย หล่อเลี้ยงชีวิตและเพื่อยังอาชีพเกษตรกรรม และด้านอื่นๆ ของประชาชนกรกว่าแปดแสนคนเศษ
    ตราสัญลักษณ์ ประจำจังหวัดพิษณุโลก คือ รูปพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่งดงามที่สุดของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.1900 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง มีศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นสถานที่ที่ชาวไทยทั่วประเทศหลั่งไหลมากราบสักการะ บูชา มีวัดวาอารามเก่าแก่อีกมากมาย เช่น วัดนางพญา แหล่งกรุพระเก่าพระนางพญา วัดจุฬามณี วัดราชบูรณะ วัดอรัญญิก และ วัดจันทร์ตะวันตกและตะวันออก
    ต้นไม้ประจำจังหวัด คือ ต้นปีบ หรือ กาซะลอง ดอกไม้ประจำจังหวัด คือ ดอกนนทรี
    พระบารมีปกเกล้า ชาวพิษณุโลก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งสองพระองค์ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 13 ครั้ง เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกร ตลอดจนทรงติดตามงานในโครงการพระราชดำริฯ ช่วยเหลือพสกนิกร ทั้งยัง ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบรรเทาทุกข์เข็ญแห่งอาณาประชาราษฎร์มิมีที่สิ้นสุด
    25 กุมภาพันธ์ 2525 ล้นเกล้าฯ ภูมิพลมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนนเรศวร และทรงเยี่ยมเยียนราษฏร ณ บริเวณเขื่อนนเรศวร บ้านหาดใหญ่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ให้ก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแควน้อย อันเป็นผลให้เกิดโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สามารถบรรเทาทุกข์เข็นให้แก่ราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่างที่ประสบปัญหาอุทกภัย รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้ง ตลอดจนสำหรับการอุปโภคบริโภค มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำสามารถกักเก็บน้ำปกติ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 1 แสน 5 หมื่นไร่เศษ ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง อำเภอเมือง และ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันของประเทศไทย นับเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ขณะทรงพระอิสริยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นผู้แทนพระองค์ฯ ในพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งในจังหวัดพิษณุโลก ดังนี้
    วันที่ 5 เมษายน 2540 ทรงเปิดศาลหลักเมืองพิษณุโลก
    วันที่ 6 กรกฏาคม 2543 ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ เนินอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี จังหวัดพิษณุโลก
    วันที่ 6 กรกฎาคม 2547 ทรงปิดทองที่พระพักตร์พระพุทธชินราชเป็นปฐมฤกษ์ในการลงรักปิดทอง ครั้งที่ 3 และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการถวายเครื่องราชสักการะพระพุทธชินราช อย่างเป็นทางการ 4 ครั้ง.ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ทรงนมัสการพระพุทธชินราช และถวายเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระพี่นางสุพรรณกัลยา ก่อนเสด็จออกจากวิหารพระพุทธชินราช ไปยังที่ทำการศาลจังหวัดพิษณุโลก เพื่อประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดศาล จังหวัดพิษณุโลก โดยตลอดสองฝั่งข้างทาง พสกนิกรชาวพิษณุโลก ต่างมารอเฝ้ารับเสด็จฯชื่นชมพระบารมีกันอย่างเนื่องแน่น สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน และ หรือ เสด็จมาทรงประกอบพระราชกรณียกิจ พระกรณียกิจ น้อยใหญ่ นานัปการ สร้างความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นต่อพสกนิกกรชาวพิษณุโลกอย่างหาที่สุดมิได้
    #สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก

ความคิดเห็น •