"บุญหลาย" จากคนขี้เมา...สู่นักพัฒนาแห่ง ต.ขุนน่าน

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 10 พ.ย. 2022
  • “ผมรู้จักวงการดีกรีตั้งแต่อายุ 16 กินเหล้าเมาแบบเช้าถอน เย็นถอน
    พรุ่งนี้จะทำอะไรกินยังไม่รู้เลย เหมือนคนไม่มีค่า
    วันหนึ่งมีโอกาสกับโครงการปิดทองหลังพระฯ เลยตั้งคำถามกับตัวเอง
    เขาเอาองค์ความรู้มาให้ทุกอย่างแล้ว เราจะเป็น “คนโง่เขลา” อยู่แบบนี้เหรอ
    เริ่มเห็นคุณค่าของโอกาส มองเห็นคุณค่าในตัวเอง
    ทุกวันนี้ภูมิใจมากที่มีโอกาสได้ทำงานเพื่อชุมชน”
    เมื่อ 13 ปีก่อน “บุญหลาย” หรือ นวพล มูลยะ เด็กหนุ่มที่ชาวบ้านเปียงซ้อ ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เป็นเพียงแค่ “คนขี้เหล้าเมายา” ในสายตาของชาวบ้าน เพราะพฤติกรรมดื่มเหล้าเมาทั้งวัน จนกระทั่งปี 2552 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้าไปดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่บ้านเปียงซ้อ ผู้นำชุมชนจึงผลักดันให้ “บุญหลาย” เป็นตัวแทนหมู่บ้านเข้าร่วมทำงานกับโครงการในฐานะ อสพ. โดยที่เขาไม่รู้ตัว
    อสพ. บุญหลาย เข้าร่วมเรียนรู้การทำงานร่วมกับโครงการปิดทองหลังพระฯ ...เรียนรู้บ้าง ดื่มบ้าง... แต่เพราะความเป็นคนชอบดื่มทำให้เขากล้าที่จะเข้าไปคุยกับชาวบ้านจนชาวบ้านเปียงซ้อเชื่อและยอมเข้าร่วมกับโครงการปิดทองหลังพระฯ จนเชื่อใจให้จับ GPS วัดพื้นที่ทำกิน
    หลังจากนั้น อสพ.บุญหลาย ถูกมอบหมายให้ไปทำงานด้านปศุสัตว์ แม้จะไม่มีความรู้ด้านนี้เลย แต่เขาก็ตกปากรับคำทันที เพราะความอยากรู้ว่า เวลามีโรคระบาดทำไมวัวควายของชาวบ้านถึงล้มตายกันเยอะ บุญหลาย พยายามเรียนรู้จนสามารถช่วยชาวบ้านรักษาวัวควายให้รอดพ้นจากโรคระบาด จนถึงตั้งฉายาว่าเป็น “หมอตีนเปล่า” แห่งขุนน่าน
    เมื่อถึงเวลาที่ ต.ขุนน่าน จะเปลี่ยนจากเขาหัวโล้นให้กลายเป็นป่าในปี 2556 บุญหลาย นึกถึง “กาแฟ” พืชในดวงใจที่เขามีโอกาสไปเห็นตั้งแต่ครั้งที่ไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ “บุญหลาย” เสนอให้ชาวบ้านเปียงซ้อปลูกกาแฟ แม้จะเป็นสิ่งใหม่ แต่ “บุญหลาย” ใช้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ยุทธศาสตร์พระราชทาน หลักการทำงานของปิดทองหลังพระฯ ทำให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่าง ทุกวันนี้ชาวบ้านเปียงได้เปลี่ยนจากไร่ข้าวโพดให้กลายเป็นไร่กาแฟแทบจะทั้งดอย
    จากที่ชาวบ้านเคยถางข้าวโพดแล้วเผาทันที วันนี้ไม่มีสิ่งนั้นเกิดขึ้นที่บ้านเปียงซ้อแล้ว เพราะทุกคนต้องการรักษาต้นกาแฟ ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยังสามารถสร้างป่าให้ ต.ขุนน่าน จนกลายเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวชมธรรมชาติที่สดใหม่ กลายเป็นรายได้ให้ชาวบ้านได้อีกทาง
    ตลอดระยะเวลาที่ทำงานเป็น อสพ. ให้กับโครงการปิดทองหลังพระฯ บุญหลาย ยอมรับว่า เขายังคงดื่มบ้าง แต่จากที่เคยดื่มมากก็ค่อย ๆ ลดลง เพราะความรับผิดชอบด้านหน้าที่การงาน จนในที่สุดมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเขาย้อนกลับไปมองตัวเองในอดีตที่เป็นเพียง “คนขี้เหล้าเมายา” เหมือนคนไม่มีค่า และตั้งคำถามกับตัวเองว่า เขาจะปล่อยให้ตัวเองเป็นคนไม่มีค่าอย่างนั้นต่อไปหรือ ในเมื่อหนึ่งในศาสตร์ของพระราชา คือ การเป็นแม่พิมพ์ที่ดี
    “บุญหลาย-นวพล มูลยะ” จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยความต้องการที่จะพัฒนาตัวเอง และพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม จาก อสพ. โครงการปิดทองหลังพระฯ ที่เคยดื่มเหล้าเมายา เขาทำงานจนได้รับความความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากชาวบ้านเลือกให้เขาเป็น รองนายก อบต. ขุนน่าน ที่ความตั้งใจจากนี้ คือ การสานต่อโครงการของปิดทองหลังพระฯ และพัฒนา ต.ขุนน่าน ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
    “บุญหลาย-นวพล มูลยะ” รองนายก อบต. ขุนน่าน และ อดีต อสพ.โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ บอกว่า เมื่อก่อนเขาเหมือนคนไม่มีค่า แต่มันอยู่ที่จิตสำนึกของเราที่ต้องมองค่าตัวเองให้เพิ่มขึ้น เมื่อมีโอกาสได้ทำงานกับโครงการปิดทองหลังพระฯ มีโอกาสได้ความรู้ ต้องไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นผ่านไป
    “ผมมาจากรากหญ้าโดยตรง นี่คือ สิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่ครั้งหนึ่งในชีวิตก้าวขึ้นมาได้ขนาดนี้”
    #เชื่อมั่นเศรษฐกิจพอเพียง #มูลนิธิปิดทองหลังพระ #สืบสานแนวพระราชดำริ #เศรษฐกิจพอเพียง #อาทิตย์ทรงกลด #บุญหลาย #นวพล #มูลยะ #เปียงซ้อ #ขุนน่าน #เฉลิมพระเกียรติ #น่าน #อบต #กาแฟ #กาแฟน่าน

ความคิดเห็น •