ทูลเกล้าถวายกระเป๋าผ้า “ลายตะขอสลับเอื้อ” สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
ฝัง
- เผยแพร่เมื่อ 30 ต.ค. 2024
- วันที่ 8 ตุลาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานของมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “ขิดตะขอสลับเอื้อ : ทอเส้นด้ายจากภูมิปัญญาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีคุณศิริลักษณ์ เกี่ยวข้อง รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ ได้ทูลเกล้าถวายกระเป๋าผ้า “ลายตะขอสลับเอื้อ” ลายผ้าขิดประจำจังหวัดอำนาจเจริญ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน รักษาการแทนประธานบริหารหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ได้ถวายรายงานนิทรรศการ ดังนี้
“ขิตตะขอสลับเอื้อ ทอเส้นด้ายจากภูมิปัญญาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากมีพันธกิจเพื่อการศึกษาและสุขภาพแล้ว ยังปลูกฝังแนวคิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน เล็งเห็นถึงปัญหาด้านหนี้สินของเกษตรกร ส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบรรลุศักยภาพของตนเอง ให้มีความเป็นอยู่อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพทั้งยังเป็นการสืบสานวิถีชีวิตของคนไทย รักษาวัฒนธรรมให้ไม่สูญหาย และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ มีการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคให้มีมาตรฐานและเข้าถึงความต้องการของท้องถิ่น ทั้งยังมีการส่งเสริมงานวิจัยและการบริการทางวิชาการ ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
โครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อ สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตำบลโนนหนามแท่ง เป็นโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้าน เป็นการรักษาภูมิปัญญาลายผ้าท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย ให้ความรู้เพิ่มเติมในการผลิตอย่างครบวงจร รวมถึงการให้ความรู้ด้านการตลาดอีกด้วย คือเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้กับชุมชน
สำหรับ “ลายตะขอสลับเอื้อ” เป็นลายผ้าขิดประจำจังหวัดอำนาจเจริญ โดยลายตะขอ เป็นลายที่เหมือนไม้ที่มีช่วงปลายงอเพื่อใช้เกี่ยวครุหรือถังน้ำสำหรับตักน้ำจากบ่อ แสดงถึงความสามัคคีปรองดอง และลายเอื้อเป็นลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่ซ้อนกันเป็นลายนูน หมายถึง ความเอื้อเฟื้อ ความเอาใจใส่ มีน้ำใจ
ดังนั้น “ลายตะขอสลับเอื้อ” จึงสื่อถึง
ความเอื้อเฟื้อ สามัคคี เกาะเกี่ยวเหนียวแน่นกัน
หลังจากจบโครงการทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3,000 - 10,000 บาท/เดือน เกิดกองทุนส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขิดลายตะขอสลับเอื้อ ตําบลโนนหนามแท่ง มีร้านจําหน่ายสินค้า ชื่อร้าน “ฮักขอเอื้อ” ทั้งในจังหวัดอำนาจเจริญ และเพจ Huk Kor Eue ผ้าขิดลายตะขอสลับเอื้อ เป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้วย